วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 พลอากาศเอก พันธ์ภักดี  พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือด้านการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ระหว่าง กองทัพอากาศ กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร โดยมี นายกองตรี ธนกฤต  จิตรอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข, รศ.ดร.ทวิดา  กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายชาตรี  วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 

สำหรับบันทึกข้อตกลงจะนำมาซึ่งความร่วมมือและความพร้อมทางการแพทย์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งนำมาซึ่งความเป็นอยู่พื้นฐานและคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างความผาสุกให้กับประชาชน ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้  1.เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและประสานความร่วมมือ ดำเนินการพัฒนาเข้าถึงบริการทางการแพทย์ 2.เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการ แก่ประชาชนข้าราชการกองทัพอากาศและครอบครัว รวมถึงข้าราชการสังกัดอื่น ๆ ลดความแออัดในโรงพยาบาลภาครัฐ 3.ให้ความร่วมมือในด้านการศึกษาอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างกัน 4.สนับสนุนและพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกัน

ผู้บัญชาการทหารอากาศ  กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองทัพอากาศได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครเป็นอย่างดี โดยสนับสนุนให้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชและโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) กรมแพทย์ทหารอากาศ เป็นหน่วยงานที่ให้บริการทางด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยนอกเข้ามาใช้บริการมากกว่า 1 ล้าน 2 แสนรายต่อปี และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 90 เป็นประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ บุคลากรของกองทัพอากาศ ต่างมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน และจะยังคงยืนหยัดในการทำหน้าที่ต่อไป

วันนี้นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ข้อตกลงความร่วมมือด้านการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะทำให้ประชาชน รวมถึงข้าราชการกองทัพอากาศ ตลอดจนข้าราชการสังกัดอื่น ๆ และครอบครัวในพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนเหนือบริเวณเขตดอนเมือง และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการศึกษา อบรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างกัน รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ร่วมกันในอนาคต