ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ชาวเลเกาะอาดัง ผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยเเละชาวต่างชาติ เข้าร่วมกิจกรรม “การลอยเรือ” ซึ่งเป็นประเพณีของชาวเล (ชาวน้ำ) จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือน 6 และในเดือน 12 เพื่อลอยบาปและเป็นการเสี่ยงทายในการประกอบอาชีพ และเพื่อร่วมสืบสานประเพณีที่มีมานาน
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล โดยนางขนิษฐา คำจันทร์แก้ว วัฒนธรรมจังหวัดสตูล ร่วมจัดงานประเพณีลอยเรือชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ตามโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดสตูล โดยมีคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธี ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ซึ่งมีชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ชาวเลเกาะอาดัง ผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยเเละชาวต่างชาติ ร่วมกิจกรรม เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลจังหวัดสตูล ให้เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวเลจังหวัดสตูล ณ บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล
ในกิจกรรมประกอบด้วย - ขบวนรองเเง็งแห่ไม้เสาเอก จากบ้านอูเส็นถึงบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ - ขบวนเรือแห่ไม้ระกำออกจากเกาะอาดังมายังเกาะหลีเป๊ะเพื่อต่อเรือไม้ระกำ "ปราฮูปาจ๊ก" - การต่อเรือไม้ระกำ "ปราฮูปาจ๊ก" - การสาธิตภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้านชาวเลเกาะหลีเป๊ะ - การละเล่นรำมะนารอบเรือปาจั๊ก
โดยชาวเลอูรักลาโว้ย ถือเป็นชาติพันธุ์หนึ่งของสังคมไทย ที่ดำรงเผ่าพันธุ์ยาวนาน อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ตและสตูล สำหรับพื้นที่จังหวัดสตูล ชาวเลชนเผ่าอุรักลาโว๊ย มาตั้งถิ่นฐานมากที่สุดที่เกาะหลีเป๊ะ รองลงไป คือ เกาะบุโหลน ชาวเลในจังหวัดสตูล จะมีวิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบสานต่อไป ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมให้กับชาวไทยและต่างประเทศได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวเลมากขึ้นด้วย