วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม นับเป็นอีกประเพณีโบราณสำคัญ ในช่วงบุญเดือนหก เดือนพฤษภาคม ของทุกปี หรือในช่วงวินวิสาขบูชา ชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม รวมถึงประชาชน นักท่องเที่ยว จะได้มีโอกาสร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ สรงน้ำ พระติ้ว พระเทียม พระพุทธรูปไม้แกะสลักโบราณ บุด้วยทองคำ อายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี ประดิษฐานภายในอุโบสถวัดโอกาสศรีบัวบาน ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพศรัทธาของชาว จ.นครพนม มากราบไหว้ขอพร ขอโชคขอลาภ เชื่อกันว่าทุกปี จะต้องมีการจัดสรงน้ำ เพื่อขอฟ้าขอฝนตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นการเริ่มต้นของฤดูทำนาปี

สำหรับพระติ้ว พระเทียม ถือเป็นพรพุทธรูปโบราณ คู่แฝด สร้างในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ หรือ เมืองนครพนม ในปัจจุบัน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าพระติ้ว แกะสลักจากไม้ติ้ว เริ่มสร้าง ปี พ.ศ.1238  และสมโภชเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง เดิมประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านสำราญ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม เคยเกิดเรื่องราวปาฏิหาริย์ ไฟไหม้หอประดิษฐานพระติ้ว จนชาวบ้านเชื่อว่า ถูกไฟไหม้เสียหายไปกับกองเพลิง จึงมีการแกะสลักเป็นพระคู่แฝดขึ้นทดแทน ชื่อว่า พระเทียม ภายหลังกับมีชาวพบ พระติ้ว ลอยในน้ำโขง ยืนยันเป็นองค์เดียวกัน ที่สูญหาย เชื่อว่ามีองค์พญานาค สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักษ์รักษา จึงได้นำมาประดิษฐานไว้ ที่วัดโอกาสศรีบัวบาน ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม

นอกจากนี้ในปี 2553 ได้มีโจรบาป เข้าไปขโมย พระเทียมไป เชื่อว่าตั้งใจจะขโมยพระติ้ว แต่มีองค์เหมือนกัน ทำให้ขโมยพระเทียมไป โดยไม่สามารถตามกลับคืนมาได้ ชาวบ้านพลังศรัทธา จึงได้ร่วมกันสมทบทุนทำบุญแกะสลัก พระเทียม ขึ้นมาอีกเป็น ครั้งที่สอง ทดแทนองค์เดิม ทำให้ปัจจุบัน เป็นพระพุทธรูปคู่แฝด ที่ชาว จ.นครพนม เคารพศรัทธา เป็นอย่างมากรวมถึงมีประชาชน นักท่องเที่ยวไปกราบไหว้ขอพร ขอโชคลาภ สมหวังแล้วหลายราย   

เช่นเดียวกัน ที่วัดโพธิ์ศรี ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ได้ประกอบพิธี สรงน้ำพระพุทธรูปโบราณ พระทอง-พระเทียม พระพุทธรูปคู่แฝด เช่นเดียวกัน กับ พระติ้ว พระเทียม สร้างในโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น อายุราว 500 ปี ตามประวัติพระทอง เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ส่วนพระเทียม จัดสร้างขึ้น เป็นคู่แฝด พระทอง เพื่อป้องกันการโจรกรรม ตามประเพณีความเชื่อ ทำให้ทุกปี ชาว จ.นครพนม จะมีบุญประเพณีสำคัญ คือ การสรงน้ำขอพร พระพุทธรูปคู่แฝด โบราณ ทั้ง 2 คู่แฝด