วันที่ 23 พ.ค.67 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า...
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เผยภาพระบบดาวฤกษ์วิบวับประดับอยู่ในโพรงก๊าซและฝุ่น เรียกว่า "T Tauri"
T Tauri เป็นระบบดาวฤกษ์ 3 ดวง (triple-star system) ที่ฝังตัวอยู่ในกลุ่มก๊าซและเมฆฝุ่นที่เป็นแหล่งก่อตัวดาวฤกษ์ภายในเนบิวลาสะท้อนแสง (reflection nebula) ห่างจากโลกประมาณ 550 ปีแสงในกลุ่มดาววัว (Taurus) ดาวฤกษ์ทั้ง 3 ดวงประกอบด้วย HP Tau, HP Tau G2 และ HP Tau G3 จัดเป็นประเภทดาวแปรแสง (variable star) ของดาวฤกษ์อายุน้อยและยังไม่เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น แต่กำลังพัฒนาเข้าสู่ช่วงหลอมรวมไฮโดรเจน นักดาราศาสตร์คาดว่าระบบดาวฤกษ์นี้จะมีอายุขัยไม่เกิน 10 ล้านปี น้อยกว่าดวงอาทิตย์ที่ปัจจุบันอายุประมาณ 4,600 ล้านปี
ระบบดาว T Tauri เป็นดาวแปรแสงที่ความสว่างจะแปรผันตามกาลเวลาเหมือนกับดาวฤกษ์หรือระบบดาวฤกษ์ที่มีการแปรแสงทั่วไป แต่ระบบดาวฤกษ์นี้จะเกิดการแปรแสงได้ 2 แบบ คือ แบบเป็นช่วงเวลา (periodic) ที่เกิดจากจุด Sunspots ขนาดใหญ่ ทำให้ความสว่างของดาวฤกษ์ลดลงช่วงเวลาหนึ่งในขณะที่ดาวฤกษ์หมุนรอบตัวเอง และอีกแบบหนึ่ง คือ แบบสุ่ม (random) ที่เกิดจากความไม่เสถียรของ “จานมวลสาร” (accretion disk) ที่ก่อตัวบริเวณโดยรอบดาวฤกษ์ ซึ่งอาจมีสสารภายในจานมวลสารอาจตกลงบนพื้นผิวของดาวฤกษ์ และอาจก่อให้เกิดการระเบิดที่สว่างวาบได้ เป็นปกติของดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่อยู่ในช่วงวิวัฒนาการ
ส่วนพื้นที่บิดงอลักษณะคล้ายโพรงในภาพ คือพื้นที่เนบิวลาที่ประกอบด้วยก๊าซและฝุ่น เมื่อแสงของดาวฤกษ์ตกกระทบบนก๊าซและฝุ่นเหล่านี้ ส่งผลให้เนบิวลาสะท้อนแสงของดาวฤกษ์และส่องสว่างขึ้นมา จึงเรียกเนบิวลาประเภทนี้ว่า “เนบิวลาสะท้อนแสง”
การสังเกตการณ์ระบบดาวฤกษ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา “จานก่อตัวดาวเคราะห์" (protoplanetary disks) ของกล้องฮับเบิล เพื่อสำรวจพื้นที่ก่อตัวดาวเคราะห์ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกหลายล้านปีข้างหน้า
เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง :
[1] https://www.nasa.gov/.../hubble-views-the-dawn-of-a-sun.../
[2] https://science.nasa.gov/.../hubble-views-the-dawn-of-a.../
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ