สำหรับ เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมการตลาดร่วมกับพันธมิตร (Partnership Marketing) เพื่อตอบโจทย์สมาชิกทุกกลุ่ม โดยเป็นหนึ่งผู้นำในหมวดท่องเที่ยวที่มีพันธมิตรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย  ทั้งสายการบิน โรงแรม รถเช่า รวมถึงองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ  ที่ร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

เกิดการดำเนินงานแบบ Win Win

นางประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หัวใจหลักของการร่วมมือกับพันธมิตรด้านการค้า เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในส่วนของเคทีซียึดหลักในการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องเพื่อต่อยอดธุรกิจได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมจึงพุ่งเป้าไปที่ 3 จุดหลักเพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบ Win Win คือ เคทีซี พันธมิตร และลูกค้า เมื่อเข้าสู่ระบบธุรกิจแล้วจะต้องได้รับประโยชน์จากการต่อยอดทางด้านท่องเที่ยวรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทิศทางการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

โดย นางประณยา กล่าวต่อว่า ได้ผนึกกำลัง กับเซ็นทารา เพื่อช่วยสร้างความตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับกลุ่มลูกค้าของแต่ละบริษัท โดยใช้โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท ภูเก็ต เป็นหนึ่งในต้นแบบของโรงแรมด้านความยั่งยืน ในฐานะโรงแรมที่ดำเนินงานและให้บริการลูกค้าโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

มอบประสบการณ์ที่มีคุณค่า

ซึ่ง นายเบิร์นด รูดิเกียร์ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท ภูเก็ต กล่าวว่า เซ็นทารามุ่งนำหลักการด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คนรุ่นหลังต่อไปในอนาคต  โยเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท ภูเก็ต ตั้งอยู่บนหาดกะรนอันเงียบสงบ โอบล้อมด้วยเนินเขาสีเขียวและธรรมชาติอันสมบูรณ์แบบเป็น รีสอร์ทที่จะมอบประสบการณ์วันหยุดที่น่าจดจำสำหรับทุกคน ทั้งคู่รักและครอบครัวที่ชื่นชอบกิจกรรมสันทนาการที่น่าตื่นเต้น กีฬาทางน้ำ และสวนน้ำ  

ทั้งนี้ภายในโรงแรมได้ดำเนินโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย อาทิ การบำบัดน้ำเสีย โดยการนำน้ำจากห้องพักแขกที่ผ่านการใช้งานแล้วมาบำบัดเพื่อใช้ในการทำสวน, การแปลงขยะอินทรีย์จากห้องอาหารมาเป็นก๊าซชีวภาพ และการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์รวม 572 KWP ในการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน เพื่อประหยัดพลังงานและไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยรอบรีสอร์ทผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ อาทิ การเก็บขยะริมหาด, การอนุรักษ์และสร้างระบบนิเวศบริเวณหาดหน้าโรงแรม เพื่อให้เต่ามะเฟืองสามารถขึ้นมาวางไข่ได้ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร และอาหารส่วนเกิน ด้วยการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีคุณภาพจากรีสอร์ทให้แก่มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ สาขาภูเก็ต (SOS)

เน้นสร้างความตระหนักรู้ให้ลูกค้า

ด้าน นายต่อพงษ์ วงศ์เสถียรชัย  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิฟอันดามัน จำกัด กล่าวว่า  ได้นำโมเดลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคยมาทำตลาดในเส้นทางเดินเรือ  โดยในทุกโปรแกรมของ เลิฟอันดามัน จะมีวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับข้อห้ามต่าง ๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนเริ่มโปรแกรมเสมอ

รวมไปถึงยังมีการใส่ใจในทุกองค์ประกอบของโปรแกรมทัวร์ ตั้งแต่การเลือกเครื่องยนต์ของเรือ ที่จะต้องไม่ทิ้งคราบน้ำมันลงทะเล มาให้บริการไปจนถึงลดการใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด ระหว่างโปรแกรมทัวร์ จึงทำให้การเดินทากับ Love Andaman ไม่ใช่แค่ความสนุกและความประทับใจ ที่ได้จากประสบการณ์การท่องเที่ยวเท่านั้นแต่ยังมีความรู้สึกภาคภูมิใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สามารถส่งต่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย

พร้อมกันนี้ นายต่อพงษ์ ได้กล่าวว่า การนำโมเดลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาสร้างความตระหนักให้กับลูกค้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวงการทัวร์ในบ้านเราได้มากเพียงใดคงไม่มีใครตอบได้ cต่ที่แน่ ๆ นักท่องเที่ยวนับแสนคนที่เคยใช้บริการของ Love Andaman จะนำเอาความรู้และความเข้าใจถึงข้อห้ามต่าง ๆ ในการเที่ยวทะเล พกไปใช้กับการเที่ยวทะเลครั้งต่อไป

สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถหยุดวงโคจรของการทำลายสิ่งแวดล้อมคือการร่วมมือกับรักษา และหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีสภาวะเสี่ยงต่อการถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วอย่างจริงจัง เพื่อสามารถส่งต่อมรดกทางธรรมชาติถึงรุ่นหลัง

มุ่งเป้าเป็นสายการบินรักษ์โลก

ขณะที่โรดแมปของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรหลักของเคทีซี ได้มุ่งเป้าเป็นสายการบินรักษ์โลก เฉกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินรวมถึงธุรกิจท่าอากาศยานทั่วโลก  ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันรับมือกับปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มทวีคูณความรุนแรงขึ้นจากหลายปัจจัย

โดย บางกอกแอร์เวย์สในวันนี้ ได้สร้างความตระหนักต่อการจัดการกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมผ่านหลายโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิ ด้านการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis Management) ประกอบด้วย โครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันได้มีการวางระบบปฏิบัติการสำหรับนักบินประจำสายการบินฯ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมันอย่างคุ้มค่า

อีกทั้งยังได้วางแผนศึกษาการใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน  (Sustainable Aviation Fuels: SAF) และบูรณาการเทคโนโลยีกับนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมกันนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการ “Carbon offsetting and Reduction Scheme for International Aviation” ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคการบินบรรลุเกณฑ์การรักษาระดับปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิอย่างสมดุล เพื่อตอกย้ำเป้าหมายการสร้างอุตสาหกรรมการบินสีเขียว หรือ “Green Aviation” ที่มุ่งเน้นลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก