นราธิวาส มักเป็นจังหวัดที่หลายคนมองข้าม น้อยคนนักที่จะเคยมาเที่ยวนราธิวาส ดินแดนพหุวัฒนธรรมอันมีเสน่ห์การอยู่ร่วมกันของพี่น้องมุสลิม ไทยพุทธ และจีน ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ศาสนา สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะวิถีชีวิตชาวเลที่นอกจากจะออกไปหาปลา ก็ยังเอาศิลปะมาวาดลวดลายไว้บนเรือ และยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่แฝงตัวอยู่ในจังหวัดนราธิวาสอีกมากมาย รับรองได้ว่า สุขทันทีที่เที่ยวนราธิวาส   


เรือกอและ จอดเรียงรายบนชายหาดที่ทอดยาว รายล้อมไปด้วยทรายขาวสะอาดตัดกับน้ำทะเลสีฟ้า ดึงดูดให้ทุกสายตาจดจ้องไปที่ลวดลายพลิ้วไหวเหมือนเกลียวคลื่นในทะเล ที่วาดลวดลายด้วยมืออย่างตั้งใจและใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน จากฝีมือของเยาวชนไทย ที่มักใช้เวลาว่างมานั่งหัดทำเรือกอและ จึงเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์สวยงามและทรงคุณค่าต่อวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับท้องถิ่นภาคใต้มายาวนาน ที่นี่จึงเป็นแหล่ง “ผลิตเรือกอและ” เรือที่ชาวประมงชุมชนหาดบ้านทอน หมู่บ้านริมทะเล ตั้งอยู่ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง ใช้หาปลา มีทั้งเรือของจริงและเรือจำลอง ราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นบาท นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมวิธีการผลิตและซื้อของฝากได้ทุกวัน ยกเว้นช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ชาวบ้านจะพากันไปละหมาดและหยุดพักผ่อน นอกจากนี้บริเวณชายหาดยังเป็นจุดชมเครื่องบินขึ้น-ลง ซึ่งห่างจากท่าอากาศยานนราธิวาสเพียง 3 กิโลเมตร และยังมีร้านอาหารและที่พักไว้บริการอีกด้วย 
           


 แวะชม ศาลเจ้าโกวเล้งกี่  ศาลเจ้าแห่งแรกของจังหวัดนราธิวาส และมีความแต่กต่างจากที่อื่น คือ มีเจ้าที่หรือเจ้าศาลเป็นหัวมังกรคาบแก้ว ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง ตัวอาคารสร้างแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ภายในศาลยังประดิษฐานรูปหล่อของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้ และมีรูปปั้นเทพเจ้าให้สักการะมากมาย เช่น พระยูไล พระอรหันต์จี้กง เทพเจ้ากวนอู เจ้าพ่อเสือ องค์เห้งเจีย เจ้าแม่กวนอิม ตามฝาผนังมีภาพปูนปั้นฝีมือช่างชาวจีนในสมัยก่อน บอกเล่าเรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมจีนตามตำนานพงศาวดารจีน มีความวิจิตรงดงาม รวมทั้งเสามังกรปูนปั้นซึ่งเป็นงานฝีมือที่หาชมได้ยาก เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.


บริเวณเดียวกันจะเห็น พระพิฆเนศองค์ใหญ่ เป็นปูนปั้น มีความสูง 16 เมตร หน้าตักกว้าง 7 เมตร ประทับนั่งในท่าลลิตาสนะ (ท่านั่งพับขาซ้าย และห้อยขาขวาลงพื้นฐานดอกบัว) สวมศิราภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะ) มี 4 กร พระหัตถ์ขวาบนถือดอกบัว พระหัตถ์ขวาล่างแสดงท่าประทานพร พระหัตถ์ซ้ายบนถือศาสตราวุธ พระหัตถ์ซ้ายล่างถือขนมโมทกะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง ผู้ริเริ่มการก่อสร้างเป็นเจ้าของกิจการร้านผ้าชื่อ ดีวรรณพาณิชย์ เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ที่เลื่อมใสศรัทธาในองค์พระพิฆเนศ เพื่อเสริมความเมตตาและความสำเร็จตามความเชื่อของศาสนาฮินดู 

 

เดินทางไปต่อที่อำเภอสุคิริน ชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 เป็นหมู่บ้านที่อยู่ชายแดนไทย-มาเลเซีย บรรพบุรุษของชาวบ้านที่นี่อดีต เป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชมาลายาของกองทัพประชาชน มาลายา กรมที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา นักสู้เหล่านี้จึงรวมกันเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านรัตนกิตติ 4 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานชื่อหมู่บ้านใหม่ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2536 ว่า บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12

 สำหรับชุมชนหมู่บ้านอยู่ท่ามกลางหุบเขา มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เรียกได้ว่ามาที่นี่ครบจบในที่เดียว ไม่ว่าจะเดินป่าศึกษาธรรมชาติ “แอมะซอนแห่งเอเชีย” ล่องแก่งเส้นทางต้นน้ำสายบุรี หรือจะซ้อมยิงเมล็ดพันธุ์พืชก็มีให้เลือก ส่วนสายสุขภาพห้ามพลาดและต้องลองอาหารถิ่นที่จัดเรียงในกระบอกไม้ไผ่แทนจานอย่างพิถีพิถันกับเมนูพิเศษ กรม 10 ซุปคอมมิวนิสต์ มีทั้งซุปถั่วลิสง ปลาทอดขมิ้น ไข่เจียว ผักลวก น้ำพริกบูดู และน้ำพริกกะปิ  ขอบอกว่าใช้วัตถุดิบธรรมชาติปลอดสารพิษ หรือจะแวะช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีให้เลือกมากมาย ชาอูบีซาไก - น้ำมันดอกกาหลา - สเปร์ตะไคร้ – สบู่สมุนไพร – ถาดไม้ไผ่  พร้อมที่พักไว้บริการ  


 
ก่อนกลับอย่าลืมแวะ พิพิธภัณฑ์บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาภาพถ่ายของบุคคลสำคัญ เครื่องมือ ทางการแพทย์ที่ใช้ในอดีต และเครื่องใช้ต่างๆ เมื่อครั้งยังเป็น กรม 10 ฐานเก่ากรม 10 เรียนรู้ร่องรอยและเรื่องราวจากการถ่ายทอดการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในอดีต สถานที่รำลึกถึงวีรชนผู้ร่วมกันสร้างสันติสุขและเอกภาพ  

 

เดินทางไปสัมผัสแสงแรกแห่งปลายด้ามขวานที่ ชุมชนบ้านเกาะยาว ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอตากใบ เป็นดินแดนที่อยู่ด้านตะวันออกที่สุดของภาคใต้ นอกจากจะมีหาดทรายที่สวยงามแล้วยังมี เสาธงชาติไทย หรือ เสาธงรวมใจ ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางหาด ถือได้ว่าเป็นจุดถ่ายภาพที่สำคัญและสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งบนเกาะยาว นักท่องเที่ยวนิยมมาชมพระอาทิตย์ขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวันขึ้นปีใหม่ จะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากมาตั้งเต็นท์รอชมพระอาทิตย์ขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บนเกาะยาวนับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพทำการประมงและสวนมะพร้าว ด้านหนึ่งของเกาะติดกับทะเลอ่าวไทย และอีกด้านหนึ่งติดกับแม่น้ำตากใบ 

และอีกหนึ่งในจุดไฮไลต์ของชุมชน คือ “สะพานคอย 100 ปี” เป็นสะพานไม้ที่ทอดตัวข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาว ที่มีความยาว 345 เมตร เมื่อก่อนผู้คนบนเกาะยาวจะเดินทางมายังฝั่งที่ว่าการอำเภอตากใบต้องใช้เรือในการเดินทางข้ามฝั่ง กว่าจะมีการสร้างสะพานไม้ระหว่างเกาะยาวไปยังฝั่งที่ว่าการอำเภอตากใบ ต้องรอคอยเป็นระยะเวลาที่นานมาก ประชาชนจึงเรียกสะพานดังกล่าวว่า “สะพานคอย 100 ปี” และปัจจุบันได้มีการก่อสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ เป็นสะพานคอนกรีตแข็งแรงและสวยงาม ทอดยาวคู่กับสะพานไม้เดิมที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่

ใกล้กันเป็นที่ตั้งของ วัดชลธาราสิงเห ตามประวัติศาสตร์ ท่านพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) เป็นผู้เริ่มก่อตั้งวัดนี้ และต้องไปขอที่ดินจากพระยากลันตันเพื่อที่จะสร้างวัด เมื่อปี พ.ศ. 2416 ซึ่งสมัยนั้นดินแดนตากใบยังเป็นของรัฐกลันตัน วัดนี้จึงมีส่วนเกี่ยวพันกับกรณีแบ่งแยกดินแดนตากใบระหว่างสยาม (ไทย) กับมลายู (มาเลเซีย) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในขณะนั้น (ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2452) โดยฝ่ายสยามได้มีการยกเอาพระพุทธศาสนา วัด และศิลปะในวัดเป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน อังกฤษจึงยอมรับในเหตุผลดังกล่าว โดยให้ถือเอาแม่น้ำโก-ลก (แม่น้ำตากใบ) ตรงบริเวณที่ไหลผ่านเมืองตากใบเป็นเส้นแบ่งเขตแดน วัดนี้จึงรู้จักในอีกนามหนึ่งว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” ภายในวัดมีบรรยากาศเงียบสงบและมีลานกว้างริมแม่น้ำ พระอุโบสถซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา เป็นพุทธประวัติที่สอดแทรกภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น และยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปิดทองทั้งองค์ ทำให้ไม่เห็นลักษณะเดิมที่พระโอษฐ์เป็นสีแดง พระเกศาเป็นสีดำ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทรงสอบ มีความสูง 1.5 เมตร จากลักษณะบุษบก สันนิษฐานว่าเป็นพระมอญ นอกจากนี้ยังมีพระวิหารที่ประดิษฐานพระนอน ซึ่งตามผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยชามสังคโลก และก่อนกลับอย่าลืมซื้อ ปลากุเลาเค็มตากใบ ของฝากขึ้นชื่อของ อำเภอตากใบ ไปฝากคนที่บ้านกันด้วย   

สอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส โทร. 073 542 345-6 หรือ Facebook page: TAT Narathiwat ททท.สำนักงานนราธิวาส