เมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 เวลา 14.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิกวุฒิสภา พลตำรวจโทภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางวิภาวรรณ เบนนิแมน อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการกับ Mr. Burkhard Blienert (นายบวร์กฮาร์ท บลีเนิร์ท) กรรมาธิการของรัฐบาลกลางด้านนโยบายยาเสพติดและการติดยาเสพติด ณ ห้องประชุม E214 กระทรวงสาธารณสุข สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

การพบปะในครั้งนี้สืบเนื่องจากการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐบาลไทยและเยอรมนีระหว่างการประชุม CND ณ กรุงเวียนนา สหพันธรัฐออสเตรีย โดยรัฐบาลเยอรมนีขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่ผ่านมา และกล่าวถึงความสำคัญของการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันระหว่างประเทศ จากนั้น พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รมว.ยธ. ได้กล่าวถึงสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทย และปัญหานักโทษในเรือนจำที่มีจำนวนมาก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินงานตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ผู้เสพยาเสพติดส่วนใหญ่ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับการบำบัดรักษา

โดยจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เยอรมนีพบปัญหาในการใช้นโยบายห้ามยาเสพติด จึงพัฒนามาสู่การควบคุมเพื่อให้สังคมปลอดภัยจากการติดทั้งสารเสพติดและพฤติกรรมเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูบบุหรี่ เสพสุรา ติดการพนัน รวมถึงประชากรกว่า 1.3 ล้านคนที่ติดยาเสพติด จึงกล่าวได้ว่าประชากรเยอรมนีกว่า 4 ล้านคนมีพฤติกรรมเสพติด จากประชากรทั้งประเทศ 80 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อครอบครัว การงาน จึงถือเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา 
ในปัจจุบันนี้ นโยบายยาเสพติดของเยอรมนี ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาและบำบัดรักษา การป้องกัน การลดอันตรายจากยาเสพติด และการปราบปราม ซึ่งในการบำบัดรักษาต้องพิจารณาจากสารที่ใช้เป็นหลัก และจัดบริการที่เหมาะสม โดยในกลุ่มที่ยังเลิกไม่ได้ก็จะมีบริการลดอันตรายจากยาเสพติด ทั้งการให้สารทดแทนฝิ่น ห้องเสพยา แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสารทดแทนยาอื่นๆ ทั้งนี้ ในกลุ่มเยาวชน ควรเน้นด้านการสร้างความตระหนักรู้ยาเสพติดเพื่อป้องกันและลดปัญหาจากการใช้ยา

จากนั้น คณะผู้แทนได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นกัญชา ซึ่งในเยอรมนี อนุญาตให้ใช้กัญชาเชิงสันทนาการ แต่มีข้อกำหนด ดังนี้ ครอบครองกัญชาที่บ้านได้ไม่เกิน 50 กรัมหรือ 3 ต้นต่อครัวเรือน สามารถพกพากัญชาในที่สาธารณะได้ไม่เกิน 25 กรัม  สามารถสูบกัญชาในที่สาธารณะได้แต่ห้ามใกล้สวนสาธารณะหรือสนามเด็กเล่น

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะจัดประชุมสัมมนาระหว่างประเทศด้านการยาเสพติดและการลดอันตรายจากยาเสพติด ในห้วงเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่ง รมว.ยธ. ขอเชิญผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีด้านดังกล่าวในการประชุมดังกล่าวด้วย ซึ่งประเทศเยอรมนียินดีจะเข้าร่วมงานดังกล่าวต่อไป