“เสรีพิศุทธ์” ถอนฟ้อง “บุ้ง เนติพร” คดีหมิ่นประมาท ระบุไม่ประสงค์ดำเนินคดีบุ้งอีกต่อไป ด้านทนายด่าง เปิดข้อสังเกตประวัติการรักษา ”บุ้ง“ จาก รพ.ราชทัณฑ์ สงสัยเวลากู้ชีพบันทึกไม่ตรงกัน จี้ กรมคุก ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ส่วนแพทย์ระบุ “บุ้ง” ป่วยเป็น Refeeding Syndrome

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 เวลา 15.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส นางสาวกุณฑิกา นุตจรัส นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ เดินทางมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชน กรณีมายื่นเอกสารในคดีอาญาที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ฟ้องหมิ่นประมาท นางสาวเนติพร จากกรณีที่นางสาวเนติพร ได้ทำการแสดงความคิดเห็นกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช กล่าวถึงนางสาว ธนลภย์  หรือหยก โดยทนายได้เข้ายื่นเอกสารเข้าไปในคดีเพื่อแจ้งการเสียชีวิตของนางสาวเนติพรต่อศาล โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ค.67 ภายหลังจากที่นางสาวเนติพร เสียชีวิตไปแล้ว 1 วัน ทางพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ได้มอบหมายให้ทนายความมายื่นคำร้องถอนฟ้องคดีทั้งหมด ทั้งเรื่องเรียกค่าเสียหายและทางคดีอาญาดยให้เหตุผลว่าไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป โดยศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดี ซึ่งถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว

ต่อมานายกฤษฎางค์ ได้เปิดเผยรายละเอียดและข้อสังเกตของเอกสารที่ได้รับจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า จากกรณีการเสียชีวิตนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวังเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งต่อมาโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ส่งมอบเอกสารทั้งสิ้นจำนวน 26 แผ่น 

พบว่า เวลาการกู้ชีพตามบันทึกทั้ง 26 แผ่น มีการระบุเวลาที่เริ่มการกู้ชีพไม่ตรงกัน โดยจากเวชระเบียน วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 และจากแบบสำหรับส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อ ระบุว่าเวลา 6.15 น. ผู้ป่วยมีอาการเกร็ง ตาเหลือก เรียกไม่รู้สึกตัว เริ่มทำการกู้ชีพ (CPR) เวลา 6.23 น. แต่ทั้งนี้ จากแบบบันทึกการกู้ชีพระบูว่า เริ่มทำการกู้ชีพ (CPR) เวลา 6.28 น. มีการย้ายผู้ป่วยจากห้องอาคารชั้นสองของโรงพยาบาลลงไปที่ห้องไอซียูชั้น 1 โดยใช้อาสาสมัครเรือนจำช่วยในการเคลื่อนย้ายจำนวน 4 คน จากเอกสารทั้งหมดไม่ปรากฎว่าตลอดระยะเวลา 6.15 - 6.28 น. มีการติดเครื่องติดตามสัญญาณชีพแต่อย่างใด

จากแบบบันทึกการกู้ชีพระบุว่ามีการทำเอกซ์เรย์ปอด (ไม่ระบุเวลาทำ) และมีการส่งผู้ป่วยไปทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมองชนิดไม่ฉีดสารทึบสี ที่ห้อง x-ray เมื่อเวลา 7.38 น.โดยระบุว่าระหว่างนั้นยังทำการกู้ชีพ (CPR) อยู่ตลอดระยะเวลาตั้งแต่การส่งตรวจจนถึงเวลากลับมาถึงหอผู้ป่วยในเอกสารต่างๆ ระบุเวลาไม่ตรงกัน ก่อนผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เข้าประเมินผู้ป่วย 8.00 น. และสั่งให้ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ประสานงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เพื่อส่งรักษาต่อ โดยไม่มีสัญญาณชีพกลับคืนมาตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และไม่มีการแนบผล หรือให้ภาพเอกซ์เรย์แนบมากับเอกสาร 26 แผ่นแต่อย่างใด ทั้งนี้จากแบบบันทึกสรุปการจำหน่าย (Discharge Summary) ระบุว่า ผู้ป่วยมีอาการโรค Refeeding Syndrome

นายกฤษฎางค์ กล่าวด้วยว่า ทนายความและญาติประชุมปรึกษาร่วมกันแล้ว ต้องการสอบถามถึงมาตรฐานการกู้ชีพ และความน่าเชื่อถือของเวชระเบียน เนื่องจากมีการระบเวลาที่เริ่มทำการกู้ชีพไม่ตรงกัน ไม่มีบันทึกสัญญาณชีพตั้งแต่หมดสติ จนถึงหอผู้ป่วย ICU และตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงมีการตัดสินใจส่งผู้ป่วยไปสแกนสมอง (CT Brain NC) ระหว่างที่ยังทำการกู้ชีพ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง อาจทำให้เกิดการกดหน้าอก กู้ชีพไม่ต่อเนื่อง ผิดมาตรฐานการกู้ชีพ 

“รวมถึงต้องการทราบว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์วินิจฉัยโรค Refeeding Syndrome ตั้งแต่เมื่อใดมีการรักษาและแก้ไขอย่างไรบ้างจนถึงวันก่อนเสียชีวิต เนื่องจากเป็นภาวะที่มีความรุนแรงและควรต้องดูแลอย่างใกล้ชิดญาติของผู้เสียชีวิตมีความต้องการให้โรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งมอบเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ได้แก่ ผลการเอ็กซเรย์ปอด ผลอ่านการเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมองชนิดไม่ฉีดสารทึบสี ผลบันทึกว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ให้ผู้เสียชีวิตรับอาหารใด ผลเลือดทุกครั้ง และระเบียนเวชทั้งหมด นับตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2567” นายกฤษฎางค์ กล่าวทิ้งท้าย