กรณีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับนายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รอง ผวจ.นครราชสีมา และคณะอนุกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) วาระแนวทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ประเด็นสืบเนื่องมติการประชุม อจร.นม.ครั้งที่ 1/2567 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการตามฉันทานุมัติของชาวโคราช เมื่อปลายปี 2562 เดิมรูปแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านเมือง เป็นทางระดับดิน เพื่อลดผลกระทบต่อวีถีชีวิตในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวทางต้องการตอม่อและรื้อถอนสะพานสีมาธานีรวมทั้งช่วงผ่านกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี มีความสูงเกิน 5 เมตร เพื่อให้รถยนต์ขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านได้สะดวก
โดย ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ฟท.) ได้ชี้แจงข้อเปรียบเทียบ 1.วิศวกรรมโยธาและการจราจร เช่น ความลาดชัด โค้งทางดิ่ง การแก้ไขจุดตัดทางรถไฟ 9 จุด และการระบายน้ำ 2.เศรษฐกิจและการลงทุน เช่นมูลค่าก่อสร้าง ผลกระทบด้านระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง การบำรุงรักษาและปัญหาการจราจรระหว่างก่อสร้าง 3.สิ่งแวดล้อม เช่น แบ่งแยกชุมชน ผลกระทบด้านสุนทรียภาพ อากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน ความปลอดภัยกรณีเกิดอุบัติเหตุ ผลการศึกษาทั้ง 3 ข้อ รวม 100 คะแนน ไม่ทุบ 94.90 คะแนน ทุบ 85.80 คะแนน รวมทั้งระบุสะพานยังมีอายุการใช้งานอีกหลาย 10 ปี ทุบสะพานใช้เวลากว่า 2 ปี ผู้ใช้รถใช้ถนนและชุมชนต้องรับผลกระทบทั้งการสัญจรและการดำเนินชีวิตรวมทั้งต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่อีก 2 ปี จึงไม่ควรทุบสะพาน ทำให้เกิดปมขัดแย้งกับมติชาวโคราช ต้องการให้ทุบสะพาน ซึ่งเป็นมติความเจริญของเมืองในอนาคตและยอมรับปัญหาระหว่างทุบสะพาน ทำให้ไม่ได้ข้อยุติและส่งผลต่อการพัฒนาขนส่งทางราง ทำให้การเดินรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสถานีรถไฟโคกกรวดถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นคอขวด ขบวนรถไฟวันละกว่า 30 ขบวน ต้องรอสับหลีกและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ในขณะผ่านตัวเมือง รองปลัดกระทรวงคมนาคม จึงให้สำรวจโพลเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทให้แล้วเสร็จก่อนการประชุม ครม.สัญจร ที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้
ล่าสุดวันที่ 21 พ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า บริเวณใต้สะพานสีมาธานีและชุมชนอัมพวันพัฒนา เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา นายอุดม สร้อยแสงพันธ์ อายุ 59 ปี พร้อมพวกซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบ้านพักและที่ทำกินใต้สะพาน โดยได้ผลกระทบจากสะพานดังกล่าว นานกว่า 40 ปี ได้นัดพบปะนายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ส.ส.เขต 1 จ.นครราชสีมา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ ส.ส เขตเจ้าของพื้นที่ เพื่อขอความช่วยเหลือให้กระตุ้นผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการตามฉันทานุมัติและยืนถือป้าย “ทุบสะพานสีมาธานี ฟื้นคืนสี่แยกอัมพวัน
นายอุดม เปิดเผยว่า ชุมชนและย่านการค้าแห่งนี้อยู่มาก่อนที่จะมีสะพานต่างระดับข้ามทางรถไฟ ส่งผลให้ละแวกใต้สะพานสภาวะเศรษฐกิจเงียบเหงาซบเซาลง พวกเราต้องทนแบกรับความลำบาก เพื่อให้ส่วนรวมได้สัญจรผ่านสะดวก ฝาก ส.ส.ช่วยติดตามพร้อมนำปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการโดยเป็นมติรื้อถอนสะพาน นำเสนอต่อ ครม. เพื่อไม่ให้เมืองถูกแบ่งแยกเป็น 2 ฝั่ง รวมทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจในระยะยาว
นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ส.ส.เขต 1 จ.นครราชสีมา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ ส.ส. เขตเจ้าของพื้นที่ กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องเร่งสื่อสารยืนยันถึงความต้องการของชาวโคราชให้รัฐบาลและ รฟท. มีความเข้าใจเหตุและผลทำไมต้องทุบสะพานนี้ หากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ล่าช้า อาจเกิดปมขัดแย้งบานปลายกับกลุ่มที่ไม่เข้าใจสภาพปัญหา ทั้งๆที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีมติเป็นเอกฉันท์มากว่า 5 ปี ฝากถึงรัฐบาล แกนนำพรรครัฐบาลที่เดินทางผ่านโคราชได้โปรดรับทราบปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริง
"มิใช่เป็นรัฐบาลแล้วมากลับมติ เริ่มโครงการใหม่ ซึ่งสร้างความเดือดร้อน สาเหตุความล่าช้าเกิดจากการทำงานของรัฐบาล จึงควรเร่งสั่งการทำตามความต้องการตามมติของพี่น้องคนเมืองโคราช” นาย ฉัตร กล่าว