“ทรีนีตี้” เทิร์นอะราวด์ รายได้ค่าธรรมเนียมขายหุ้น “ไอพีโอ” กำไรพอร์ตหุ้น - คริปโทเคอร์เรนซีเติบโตต่อเนื่อง กำไรไตรมาสแรกปี 2567 กว่า 15.68 ล้านบาท พุ่งขึ้น 168.39% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มองไตรมาส 2 ยังสดใสจากดีลที่ปรึกษาไอพีโอเพียบ

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จํากัด (มหาชน) (TNITY) เปิดเผยถึงผลดำเนินงานของบริษัทงวดไตรมาส 1 ปี 2567 ว่า บริษัทกลับมามีกำไรสุทธิ 15.86 ล้านบาท หรือคิดเป็นกําไรต่อหุ้น 0.07 บาท โดยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 168.39 จากไตรมาสเดียวกันปี 2566 ที่ขาดทุนสุทธิ 23.19 ล้านบาท ทั้งนี้ งวดไตรมาสแรกของปี บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 157.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 63.52 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 96.49 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่ขยายตัวมากขึ้นจากการที่ในไตรมาสนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นเกือบ 100% ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและรับประกันการจำหน่ายหุ้นให้กับบริษัทที่นำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ทำให้มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการจำนวน 25.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 44.63 จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีรายได้ 17.68 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกําไรและผลตอบแทนจากเงินลงทุนรวม 18.90 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 64.74 ล้านบาท รวมถึงมีกำไรจากการขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี 9.69 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1 ปีนี้ด้วย

โดยในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์โดยเฉพาะรายได้จากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ยังคงเป็นไปตามสภาพของตลาดรวมที่ยังคงผันผวน ได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลให้ราคานํ้ามันยังคงอยู่ในระดับสูง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสําคัญต่อเศรษฐกิจโลก ทําให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน แม้เศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว แต่การใช้จ่ายของภาครัฐกลับลดลงมาก การฟื้นตัวของภาคการส่งออกช้ากว่าที่คาดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวน โดยในช่วงไตรมาส 1 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงจาก 1,415.85 จุดเมื่อสิ้นปี 2566 เป็น 1,377.94 จุดสิ้นเดือนมีนาคม มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลงมาอยู่ที่ 45,684 ล้านบาท ลดลงจากจากไตรมาสเดียวกันปี 2566 ที่ 66,684 ล้านบาท หรือลดลงในอัตราร้อยละ 31.49 ส่วนตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายลดลงจากจากไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีปริมาณซื้อขายสัญญาฯ ต่อวัน 594,550 สัญญาเป็น 432,727 สัญญาในไตรมาส 1 ปี 2567 หรือลดลงในอัตราร้อยละ 27.22                                                                                         

ทั้งนี้ผลของการลดลงอย่างมากของปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทำให้รายได้จากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงตามด้วย โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้  24.32 ล้านบาท ลดลงในอัตราร้อยละ 43.61 จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 43.13  ล้านบาท ส่วนรายได้จากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในไตรมาส 1 ปี 2567 ลดลงเหลือ 42.36 ล้านบาท หรือลดลงในอัตรา 17.30 จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 51.22 ล้านบาท ซึ่งการลดลงดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เป็นผลจากการลดลงของเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ระหว่างงวด

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวถึงทิศทางในช่วงไตรมาส 2 ว่า ยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจที่ปรึกษาเพราะยังมีดีลที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 6-8 ดีลใน 1-2 ปีข้างหน้า ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นก็น่าจะดีขึ้นหลังจากเริ่มเห็นสัญญาณการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ แม้จะถูกยืดระยะเวลาออกไป ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศก็น่าจะดีขึ้นหลังงบประมาณปี 2567 ถูกอัดฉีดเข้าระบบ เป็นต้น