นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า กรมฯมีนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย ในปี 2570 โดยโครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย หรือ IDEA LAB : Thai Brand Incubation Program หนึ่งในโครงการที่สะท้อนนโยบายดังกล่าว และมีความสำคัญตามภารกิจหลักของกรม และนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ ให้นำความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ นวัตกรรม และการสร้างแบรนด์ มาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ด้วยการสร้างอัตลักษณ์และจุดแข็งของแบรนด์ตนเองเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการ Megatrends เพื่อต่อยอดสู่การประกอบธุรกิจและครองสัดส่วนตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน 

“ในปีนี้ โครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 7 ภายใต้แนวคิด “BRANDIVERSE” ที่แสดงถึง การเข้าสู่โลกของการสร้างแบรนด์ โดยมีองค์ประกอบในมิติต่างๆ ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ และมุ่งพัฒนาการสร้างแบรนด์ เพี่อตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศสามารถขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยจะเน้นการพัฒนาสินค้าในกลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยนำจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรชั้นดี มาพัฒนาสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งเพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการใช้ประโยชน์จาก Creative Culture ของไทย สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการเชื่อมโยงกับภาคบริการ ตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ของประเทศ” 

จากการจัดโครงการฯ มาแล้ว 6 รุ่น มีผู้ประกอบการเข้าร่วมและได้รับคู่มือการสร้างแบรนด์ รวม 98 แบรนด์ นับได้ว่าเป็นโครงการที่พัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในด้านการสร้างแบรนด์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผู้ประกอบการพึงพอใจและมองว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ ช่วยทำให้เห็นตัวตนชัดเจนมากยิ่งขึ้น เกิดการจัดระบบความคิดและบริหารทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ยังเป็น การสร้างประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากมีผู้ที่นำเอาวัตถุดิบ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิต สินค้า  ทำให้เกิดการขยายฐานการผลิตในภูมิภาค เกิดการสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน อันนําไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก

นางสาวประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวว่า โครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 7 มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ประกอบการที่มีแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบ BCG จากทั่วทุกภูมิภาค ที่มีเครื่องหมายการค้าและมีอัตลักษณ์ของตนเอง มีการสร้างแบรนด์และพัฒนาธุรกิจตามแนวทาง Circular Design และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีแนวคิดเกี่ยวของกับการส่งเสริม วัฒนธรรมสร้างสรรค์โดยมีสถานะอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้านวัตกรรมอาหาร เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ส่วนผสมในอาหาร ขนม ไอศกรีม

ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย เครื่องประทินผิว เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สปา น้ำหอม อาหารเสริม ,ผู้ประกอบการในกลุ่มสินคาแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เช่น ผ้าผืน เสื้อผา สิ่งทอ เครื่องประดับแฟชั่น กระเป๋า รองเท้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ของขวัญ ของตกแต่ง ของใช้ภายในบ้าน เครื่องเขียน งานหัตถกรรม 

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการสร้างแบรนด์แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักสร้างแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศชั้นนํา เพื่อการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในโลกยุคใหม่ และจากนั้นจะเป็นกิจกรรมบ่มเพาะเพื่อเสริมสร้างศักยภาพแบรนด์ ซึ่งเป็นการจัดพัฒนากลยุทธ์การสร้างแบรนด์แบบเฉพาะรายและการต่อยอดสู่ตลาดโลก โดยจะมีการพิจารณาคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 30  แบรนด์ในเดือนพฤษภาคมนี้ และคัดเลือกอีกครั้งจากการนำเสนอแนวทางกลยุทธ์การสร้างแบรนด์พร้อมสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ 15 แบรนด์

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการและพัฒนาเชิงลึก การจัดทำแบบสรุปกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และสินค้าในรูปแบบเฉพาะ (Customized Brand & Product Strategy) ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทำแผนกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2567

"ในปีนี้ทั้ง 15 แบรนด์ที่เข้าร่วมการอบรมเชิงลึกจะได้สร้างเครือข่ายเพื่อต่อยอดทางการค้าร่วมกับผู้ประกอบการ IDEA LAB รุ่นที่ 6 และเข้าร่วมกิจกรรมเตรียมความพร้อมแบรนด์และเพิ่มศักยภาพในการเจาะตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นที่ประเทศจีนและอินเดีย ตลอดจนการเจรจาจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (OBM) กับผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากตลาดจีนและอินเดียต่อไป"