วันที่ 20 พ.ค.2567 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่ม 40 สว.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและนายพิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักงานายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับในวันที่ 23 พ.ค.นี้ว่า ตนไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย ซึ่งเป็นไปอย่างที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าเรื่องนี้ได้มีการหารือในที่ประชุมกมธ.โดยมีการถกรายละเอียดกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะนายเสรี และกมธ.อีกหลายคนไม่เห็นด้วยที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะมีรายละเอียดต่างๆที่ไม่เห็นด้วย และที่สำคัญที่สุดสว.หมดวาระ ฉะนั้นเมื่อหมดวาระก็ไม่ควรไปสร้างประเด็นและปัญหา แม้จะมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง และต้องทำในเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น
“เรื่องนี้เรามองเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน มีอีกหลายส่วนงานที่สามารถทำหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือสส.ที่เขาเห็นปัญหา ดังนั้นเราไม่ควรไปสร้างปัญหานี้ ในที่ประชุมกมธ.จึงมีเพียงแค่ 3 คนที่ร่วมลงชื่อ และผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะมองแล้วว่าการที่นายกฯจะเสนอใครสักคน เพื่อให้ในหลวงโปรดเกล้าฯจะต้องมีการพิจารณาตรวจสอบอย่างรอบคอบด้วยความระมัดระวัง มีหลายองค์กรที่กว่าจะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯได้ทำการตรวจสอบ และได้มีการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว จึงเชื่อว่านายกฯต้องทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ แต่คนอื่นเห็นปัญหาอย่างไรก็เป็นเรื่องที่คนอื่นจะต้องตรวจสอบต่อไป ดังนั้นสว.ที่อยู่ในฐานะกำลังจะไปก็ไม่ควรจะไปสร้างประเด็นใดๆขึ้นมาอีก” นายวันชัย กล่าว
นายวันชัย กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เรามีความรู้สึกแปลกประหลาดใจ ทำไมถึงไม่เปิดชื่อทั้ง 40 สว. เพราะสว.คนอื่นที่ไม่ลงชื่อด้วยมีจำนวนมาก ขณะเดียวกันกระแสสังคมก็ถาถมเข้ามา กดดันสว.ทั้งหมดกำลังจะพ่นพิษ สร้างฤทธิ์สร้างสถานการณ์อะไรต่าง ๆขึ้นมา ซึ่งเราบอกว่าในวาระที่เราจะไปแล้วไม่ควรจะให้มีสถานการณ์ใดๆ ที่จะให้สังคมมองเราในแง่มุมที่ไม่ดี และกระแสสังคมที่เอาไปพูดว่าสว.กำลังจะล้มนายกฯ กำลังจะล้มรัฐบาล เท่าที่มองและพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้ทั้งในเรื่องกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เอามาอ้าง มองดูแล้วไม่ได้ไปถึงขนาดนั้นเลย เพียงแต่นักวิชาการ สื่อ และคนที่ไม่ชอบรัฐบาล ก็วิเคราะห์กันไปจนกระทั่งรัฐบาลล้ม อยากถามว่าหากรัฐบาลล้มจริงๆแล้วใครได้ประโยชน์อะไร เพราะถ้าดูตามเรื่องแล้ว หากรัฐบาลล้มจริง ๆนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ก็ยังต้องรักษาการนายกฯต่อไป แล้วมีการโหวตนายกฯต่อไป เมื่อโหวตนายกฯสว.ก็ไม่มีสิทธิ์โหวต เพราะเป็นเรื่องของสส.และพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นรัฐบาลต่อไป
“อย่างเก่งสมมติถ้าเป็นไปตามนั้น ก็จะมีคุณอุ๊งอิ๊ง(น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) ขึ้นมา มีคุณชัยเกษม (นายชัยเกษม นิติศิริ) ขึ้นมา คนอื่นที่จะขึ้นมา มองดูแล้วปิดประตูเลย มันยากมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะล้มหรือไม่ล้ม เกมก็ยังอยู่ในมือพรรคเพื่อไทยอยู่ ฉะนั้นประเด็นนี้ไม่สามารถไปสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆได้เลย นี่คือมองถึงผลร้าย แต่ในกมธ.ได้ถกแถลงประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไม่น่าจะไปถึงนายกฯ แต่ก็อาจจะมีบางคนที่อาจจะหวังผลอื่นหรือเปล่าเราก็ไม่รู้”นายวันชัย กล่าว
เมื่อถามว่ากลุ่ม 40 สว.ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญมีเจตนาอย่างไร นายวันชัย กล่าวว่า ตนไม่อยากวิเคราะห์ แม้บางส่วนอาจจะพอเข้าใจอยู่บ้าง แต่ไม่อยากไปสร้างความขัดแย้งใดๆต่อกัน ก็ให้เป็นสิทธิ์ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของทุกคน ใครอยากจะใช้สิทธิ์อะไรก็ใช้สิทธิ์ไป และเป็นเรื่องความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล
นายวันชัย กล่าวว่า ตนยืนยันได้เลยในฐานะที่เป็นสว.และอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่โหวตนายกฯ จนกระทั่งยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 และจนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีการดีล หรือสั่งการอะไรกันทั้งสิ้น เพราะที่ผ่านมาเป็นเรื่องของกลุ่ม สายนั้นสายนี่ เพราะฉะนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าเป็นการวิเคราะห์กันอย่างผิด ๆเป็นการเข้าใจและเอาเรื่องมาโยงเอง ทั้งๆที่ไม่ใช่คนใน และอยากถามว่าหากดีลนี้ในที่สุดล้มนายเศรษฐาได้แล้วซีกไหนจะมาเป็นรัฐบาล ปิดประตูเลยใน 4 ปีนี้ ไม่มีซีกไหนจะมาเป็นรัฐบาล นอกจากปฏิวัติรัฐประหารเท่านั้น ถ้าไม่มีการปฎิวัติรัฐประหาร อย่างไรรัฐบาลก็อยู่ในสภา และอย่างไรคนที่มีอำนาจในการต่อรองสูงที่สุดก็คือพรรคเพื่อไทย พรรคอื่นอำนาจต่อรองไม่ถึง นอกจากปฏิวัติรัฐประหาร ไม่มีใครล้มได้ นอกจากเขาโกงกิน ทุจริต และไม่มีผลงาน เขาก็จะสะดุดขาตัวเองแน่นอน