สถานีเรือรัตนวาปี นรข.เขตหนองคาย จัดงานวัน "อาภากร" ประจำปี 2567 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พลเรือเอก กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือองค์บิดาของทหารเรือไทย

วันที่ 19 พ.ค. 67  เวลา 07.00 น.นายวุฒิชัย  ใช่ภูวนาท นายอำเภอรัตนวาปี เป็นประธานพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย เนื่องในวันอาภากร ณ พระอนุสาวรีย์ฯ ในสถานีเรือรัตนวาปี อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย โดย นาวาโทอริยะ  ทองหมั่น หัวหน้าสถานีเรือรัตนวาปี นรข.เขตหนองคาย ได้นำข้าราชการในสังกัด โดยมี องค์กรภาครัฐ เอกชน และราชการ เข้าร่วมในพิธี 

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2423 ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เจ้าจอมมารดาโหมด ในปีพุทธศักราช 2439 เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้มีพระวิริยะอุตสาหะจนผลการศึกษาปรากฏอยู่ในขั้นดีเยี่ยม และมีพระจริยวัตรที่งดงามเป็นที่รักใคร่ของครู อาจารย์ เป็นที่ยอมรับนับถือของชาวอังกฤษที่ได้ศึกษาอยู่ในคราวเดียวกัน เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารสัญญาบัตรในราชนาวีอังกฤษแล้ว ได้เสด็จกลับเข้ารับราชการ ในกระทรวงทหารเรือ ในปีพุทธศักราช 2443 รับพระราชทานยศเป็น "นายเรือโท ผู้บังคับการ" ในตำแหน่ง นายธงผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ปีพุทธศักราช 2448 ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้ทรงปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ทหารเรือไทยมีความรู้ ความชำนาญ สามารถเป็นครู และเป็นผู้บังคับบัญชาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศ

ในปีต่อมาทรงมีพระดำริ ในการจัดตั้งโรงเรียนนายช่างกล เพื่อรับผิดชอบเครื่องจักรในเรือ และในโรงงานบนบกแทนชาวต่างประเทศที่จ้างไว้ ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2450 ทรงเป็นผู้บังคับการเรือหลวงมกุฎราชกุมาร นำนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกลไปฝึกภาคต่างประเทศ ได้ทรงนำเรือแวะที่สิงคโปร์และเปลี่ยนสีเรือมกุฎราชกุมารจากสีขาวเป็นสีหมอกให้เหมือนกับเรือรบต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับลักษณะของสีน้ำทะเล และภูมิประเทศ ซึ่งกองทัพเรือได้นำสีดังกล่าวมาใช้เป็นสีเรือทุกลำของกองทัพเรือ ตราบจนปัจจุบัน นอกจากจะทรงมีคุณูปการอเนกอนันต์แก่กองทัพเรือแล้ว พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถในด้านการแพทย์แผนโบราณของไทย โดยในปีพุทธศักราช 2454 ขณะทรงออกจากราชการเป็นเวลานาน 6 ปีเศษ ทรงศึกษาตำราหมอยาไทยอย่างจริงจัง จนมีความรู้แตกฉาน ทรงเป็นหมอยาไทย รับรักษาประชาชนโดยทั่วไป ด้วยน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี จนได้รับพระสมัญญานามว่า "หมอพร" 

ในปีพุทธศักราช 2460 ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กลับเข้ารับราชการทหารเรืออีกครั้ง และในปีพุทธศักราช 2462 พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษให้ดำเนินการจัดซื้อเรือหลวงพระร่วงจากประเทศอังกฤษ และทรงเป็นผู้บังคับการเรือนำเรือหลวงพระร่วง เดินทางจากประเทศอังกฤษเข้ามายังกรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกลข้ามทวีป ต่อมา เมื่อปีพุทธศักราช 2465 พระองค์ได้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานที่ดินพื้นที่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ และหน่วยกำลังรบต่างๆ ของกองทัพเรือ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งมาจนถึงปัจจุบัน