เมื่อวันที่ 19 พ.ค.67 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "วิกฤติประชากรไทย คนสูงวัยคือส่วนหนึ่งของทางออกอย่างไร" ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "เปลี่ยนพลังผู้สูงวัยเป็นกลไกขับเคลื่อน Soft Power อย่างยั่งยืน" โดยมี พระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. เจ้าคณะภาค 14 ประธานคณะกรรมการบริหารกลางโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี เป็นประธานในพิธีเปิด มีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางอัษฎาพร ไกรพานนท์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. นายอนุชา สะสมทรัพย์ และนายศุภโชค ศรีสุขจร สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เข้าร่วมงาน ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา จังหวัดนครปฐม
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันวิกฤตประชากรไทย เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัยเร็วขึ้น ทำให้ภาวะเจริญพันธ์ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 13.06 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.18 แสนคน ทำให้วัยแรงงานรับภาระมากขึ้น อีกทั้งสถาบันครอบครัวไทยกำลังเลือนหาย ครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ และในปี 2576 ประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 18.38 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด
นายวราวุธ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวง พม. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” เพื่อร่วมหาทางออกของประเทศในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมหาแนวทางแก้ปัญหา ทำให้ได้ยุทธศาสตร์ 5 x 5 ฝ่าวิกฤตประชากร โดยมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพลังผู้สูงอายุ คือยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที และได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีมาตรการสำคัญ 5 มาตรการ ในการเสริมพลังผู้สูงอายุ ได้แก่ 1.การมุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค เสริมการมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ 2.การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ ขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะที่จำเป็น ส่งเสริมความรอบรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 4.การส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกิจวัตรประจำวันและการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศ และ 5.การส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติ
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในชุมชนได้ยาวนานที่สุด ผ่านโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งในปี 2567 ได้นำร่อง 19 พื้นที่ 12 จังหวัด มีผู้สูงอายุได้รับการดูแล จำนวน 73,642 คน และตั้งเป้าขยายผลทั่วประเทศ นอกจากนี้ ได้ดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมที่ตอบโจทย์ 5 มาตรการ เสริมพลังผู้สูงอายุ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSEC ผ่านสายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผ่านมามีการให้การช่วยเหลือกว่า 42,120 กรณี เป็นผู้สูงอายุ 5,371 กรณี การพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อยกระดับทักษะผู้สูงอายุสู่การค้าขายออนไลน์ ร่วมกับลาซาด้าไทยแลนด์ และทรู – ดีแทค การเสริมความรอบรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Literacy) จัดทำ “หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ” เพื่อให้ผู้สูงอายุปลอดภัยไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ของมิจฉาชีพ การจัดหลักสูตรการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ “อุ่นใจไซเบอร์” อีกทั้งมีการปรับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกวัย โดยการพัฒนาทักษะ "ช่างชุมชน" เพื่อช่วยปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ โดยคนในชุมชน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2558-ปัจจุบัน จำนวน 37,974 หลัง และการปรับปรุงสถานที่สาธารณะตามหลักอารยสถาปัตย์ให้มีความปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุทุกท่านล้วนเป็นผู้มากประสบการณ์ และความรู้ เพราะผ่านอะไรมามากมาย ดังนั้นเราจึงต้องดึงศักยภาพเหล่านี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุไม่ใช่ Soft Power แต่คนไทยทุกคนมีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดอิทธิพลทางความคิด อิทธิพลทางการปฏิบัติ และวัฒนธรรมต่างๆ ต้องเรียนว่าที่ผ่านมา ผู้สูงอายุของประเทศไทย ได้สร้างคุณูปการไว้ให้กับประเทศมากมาย เพราะว่าผู้หลักผู้ใหญ่ที่เรารู้จักล้วนแต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ดังนั้น Soft Power หรือจะสิ่งใดก็แล้วแต่ เป็นสิ่งที่คนทุกกลุ่มต้องร่วมกันทำไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ต้องขอบคุณท่านพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. เจ้าคณะภาค 14 ที่ได้เกียรติเชิญตนมาพบปะพูดคุยกับพี่น้องกลุ่มผู้สูงอายุ และได้แสดงศักยภาพว่าผู้สูงอายุจังหวัดนครปฐมนั้น เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนในหลายหลายมิติในระดับพื้นที่เพื่อร่วมกันเดินไปข้างหน้า