ครบ 14 ปี “ก้าวไกล” ร่วมรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภา 53 พร้อมทวงความยุติธรรม จี้แก้ไขกฎหมายกับธรรมนูญศาลทหาร เพื่อให้ทุกกรณีที่มีผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ต้องถูกพิจารณาในศาลยุติธรรมเหมือนกับประชาชนทั่วไป

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 พ.ค. ที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยภายหลังร่วมกิจกรรมทำบุญ รำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภา 53 ว่า ในวาระครบรอบ 14 ปี ตนคิดว่าเรามีบทเรียนอย่างน้อย 2 เรื่อง ที่ยังแก้ไม่ได้ในสังคมไทย คือ เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม ปี 53 รวมถึงอีกหลายหลายเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ต้องยอมรับว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นมีการออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน ด้วยการกล่าวหาและทำให้สังคมเข้าใจว่าประชาชนเป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นบทเรียนในสังคมว่าผู้มีอำนาจต้องเลิกให้ประชาชนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ มิเช่นนั้นความขัดแย้งในสังคมก็ไม่จบไม่สิ้น และจะไม่สามารถจัดการความเห็นต่างการเมืองได้

อย่างที่สองคือเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่อยุติธรรม เฉพาะในปี 53 กรณีที่ญาติผู้เสียชีวิตพยามฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้นำรัฐบาล ต่อศาลฎีกา ในแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยังติดเรื่องของ ป.ป.ช. แต่ก็ยังมีคดีที่ผู้เสียชีวิตทุกศพที่ติดค้างอยู่ด้วย ซึ่งยังไม่มีคดีใดขึ้นสู่ชั้นศาลเพื่อพิจารณาหาผู้กระทำผิด มีเพียง 10 กว่าศพ ที่สามารถไต่สวนการตายแล้วเสร็จ ซึ่งศาลชี้ชัดว่าเสียชีวิตจากอาวุธสงครามจากฝั่งทหาร และหลังการรัฐประหารปี 2549 ทุกคดีถูกแช่แข็งไว้หมด ไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งยังถูกปรับคำให้การและอาจเกิดการแทรกแซงในเรื่องของพยานหลักฐาน

ทั้งนี้ ตนหวังว่าคดีต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะที่ฟ้องร้องต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะในคดีอาญามีผู้กระทำผิดตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ จนถึงผู้บังคับบัญชา ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้วก็หวังว่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของคดีอาญายังคงมีปมปัญหาอยู่ เพราะญาติผู้เสียชีวิตเคยมีฟ้องตรงไปที่ศาลยุติธรรม แต่ศาลยุติธรรมบอกว่าต้องไปฟ้องศาลทหาร แต่เมื่อมีการไปฟ้องที่ศาลทหารทางอัยการกลับยกฟ้อง ซึ่งก็ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตไม่มีความเชื่อมั่นในศาลทหาร นั่นหมายความว่าต่อให้คดีความต่างๆที่ถูกแช่แข็งหลังการรัฐประหารปี 2549 มีความคืบหน้าในรัฐบาลชุดนี้ ก็จะติดปัญหาที่ว่าคดีความอาญาต้องไปขึ้นที่ศาลทหาร และมีแนวโน้มว่าอาจไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ดังนั้นในเรื่องนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายกับธรรมนูญศาลทหาร เพื่อให้ทุกกรณีที่มีผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ต้องถูกพิจารณาในศาลยุติธรรมเหมือนกับประชาชนทั่วไป