วันที่ 18 พ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า จากกรณีที่ใน สปป.ลาว ได้ขุดพบโบราณวัตถุตรงดอนผึ้งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ติดกับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2567 รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 200 ชิ้น โดยเป็นทั้งองค์พระพุทธรูปสำริด ก่ออิฐถือปูน ฐานพระพุทธรูป อิฐ เป็นต้น ล่าสุดวันที่ 16 พ.ค.ยังพบพระพุทธรูปสำริดหน้าตักกว้างประมาณ 1.80 เมตร สูงกว่า 2 เมตร ด้วย ซึ่งพาให้ผู้คนคิดถึงตำนานพระพุทธรูปองค์ใหญ่หรือพระเจ้าล้านตื้อในแม่น้ำโขงรวมทั้งสนใจใน "จิกโมลี" หรือ "เปลวรัศมี" ที่ค้นพบในคราวเดียวกันและมีลักษณะเหมือนที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสนซึ่งค้นพบก่อนปี 2466 อีกด้วย

 

ด้าน พระใบฎีกา กษิพัฑฒิ สิริภทฺโท (ครูบาอ๊อด) รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่ายางสบยาบ ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน จ.เชียงแสน เปิดเผยว่า สันนิฐานว่าบริเวณที่มีการขุดพบเคยเป็นเกาะซึ่งในอดีตเคยเชื่อมกับแผ่นดินฝั่ง อ.เชียงแสน และมีการจดบันทึกกันว่าชื่อ "เกาะดอนแท่น" เป็นที่ตั้งของวัดต่างๆ นับ 10 กว่าวัด แต่ประมาณ 200 ปีก่อนกระแสแม่น้ำโขงไหลแรงและเปลี่ยนทิศทางจนกัดเซาะเกาะจนจมอยู่ใต้แม่น้ำเป็นผลทำให้วัดต่างๆ จมลงไปด้วย กระทั่งในฤดูแล้งปีนี้ชาวบ้านฝั่งลาวได้นำเครื่องจักรเข้าไปขุดตักทรายเพื่อจะนำไปสร้างวัด แต่ปรากฎว่าได้มีการค้นพบครั้งใหญ่ที่สุดดังกล่าวซึ่งก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก

ทั้งนี้จากการดูศิลปะของพระพุทธรูปพบต่างเป็นศิลปะเชียงแสนเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ราว 300-500 ปีก่อน ในยุคที่เมืองเชียงแสนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก

ซึ่งรายงานข่าวจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย ได้บันทึกคำบอกเล่าของชาวเชียงแสนในหนังสือตามรอยพระเจ้าล้านทองทิพหรือพระเจ้าล้านตื้อว่าเมื่อปี 2479 เคยมีพรานหาปลาทอดแหกลางแม่น้ำโขงบริเวณหน้า สภ.เชียงแสน ในปัจจุบัน และได้เห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่กลางแมน้ำโขง ต่อมาปี 2488 ก็มีพรานปลาอีกคนพบเสาวิหาร 2-3 ต้นจมอยู่กลางแม่น้ำโขงจนกลายเป็นเรื่องเล่าขานและหน่วยงานภาครัฐเคยใช้การดำลงไปค้นหาหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยพบเจออีกเลย

อย่างไรก็ตามล่าสุดเฟซบุ๊กรายหนึ่ง  อ้างว่าเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ท่านหนึ่งที่แปลและแต่งตำราโลหะวิทยาคนแรกของประเทศไทย จ ระบุว่าจากการอยู่กับโลหะแทบทุกชนิดมาตั้งแต่เด็กทราบว่าโลหะผสมที่มีทองแดงเป็นโลหะหลักและมีทองเหลือง มีอลูมีนั่ม มีตะกั่ว มีดีบุก มีเงิน  เป็นโลหะรองเรียกว่าบรอนซ์ แต่ถ้าทองแดง ผสม ทองคำ เรียกว่า นาก  กรณีบรอนซ์เมื่อจมดินและน้ำไม่ถึง 100 ปี มันจะยุ่ย ผุ กร่อน ทะลุจนพรุนไปหมด ไม่เหลือเป็นองค์พระพุทธรูปสมบูรณ์แบบอย่างที่ขุดเจอ แต่ที่เห็นคืออ้างกันว่าจมอยู่ใต้แม่น้ำ 500 ปีแต่กลับไม่มีรอยใดๆ เกิดขึ้นเลย ท้ายที่สุดครูบาทองสันนิฐานว่าพระพุทธรูปที่พบน่าจะมีอายุไม่เกิน 50 ปี พร้อมท้าทายด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควร รวมทั้งยังบอกว่าอาจจะหล่อใหม่ไม่ถึง 2-3 เดือนด้วย ซึ่งหลังการโพสต์ได้มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นต่างๆ อย่างคับคั่ง

ทั้งนี้มีรายงานว่า อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ เดินทางข้ามฝั่งไป สปป.ลาว ด้านอำเภอเชียงแสน เพื่อไปชมพระพุทธรูปสัมฤทธิ์โบราณ ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงามดั่งภาพวาดในจินตนาการ ที่พี่น้องฝั่ง สปป.ลาว ได้ขุดค้นพบ โดยอาจารย์เฉลิมชัย ยังได้ร่วมบริจาคสมทบทุนในการขุด เป็นจำนวน 6,000,000 กีบ ด้วย