ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ภายใต้หนึ่งเป้าหมายจะประกอบไปด้วยเป้าหมายย่อย ซึ่งมีทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อย และตัวชี้วัด (Indicators) 232 ตัวชี้วัด เพื่อใช้ติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมายย่อยดังกล่าว
เป้าหมายการพัฒนาทั้ง 17 ข้อ สะท้อนมิติของความยั่งยืนรวม 5 มิติ คือ มิติด้านสังคม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสันติภาพและสถาบัน และมิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา จึงจะเห็นได้ว่า พันธกิจของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่ของภาครัฐเพียงเท่านั้น แต่เป็นงานที่ต้องลงมือร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในภารกิจของหน่วยงานภาครัฐอย่างสอดประสานกัน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ก่อนเปิดประชุม UN General Assembly (UNGA) ครั้งที่ 78 เมื่อปีที่แล้ว และได้มอบนโยบายให้ผู้แทนการค้าไทย คำนึงถึงเป้าหมายเหล่านี้ในการชักชวนนักลงทุนจากต่างชาติ ภารกิจของผู้แทนไทย ซึ่งยึดโยงอยู่กับมิติด้านเศรษฐกิจ จึงมีส่วนที่ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อให้การลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่นายกรัฐมนตรีได้ได้วางแนวนโยบายไว้
ปีที่ผ่านมา โครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติก่อให้เกิดการส่งออกสร้างรายได้สู่ประเทศปีละประมาณ 2,183,016 ล้านบาท ในจำนวนนี้นับเป็นอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และ เทคโนโลยีชีวภาพ มูลค่าประมาณ 788,019 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของรายได้จากการส่งออกของโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด นอกจากนี้ โครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติใช้วัตถุดิบภายในประเทศมูลค่าประมาณ 1,293,842 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากเป็นอันดับ 1 มูลค่าประมาณ 797,867 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของมูลค่าวัตถุดิบ ภายในประเทศของโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด ตัวเลขเหล่านี้ ไม่ได้เพียงแค่ทำให้เกิดผลดีด้านการส่งออก แต่ยังหมายถึงผลบวกที่เกิดกับมิติด้านสังคมที่ครอบคลุม 5 เป้าหมายแรกของ SDGs เช่น ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ เงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามา ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ที่เจริญแล้วเพียงเท่านั้น ปีที่แล้วมีโครงการต่างชาติในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจำนวน 14 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7,078 ล้านบาท ได้แก่ กิจการสถานพยาบาล 10 โครงการ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัด มหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดสุรินทร์ กิจการผลิตแป้งดิบที่จังหวัดกาฬสินธุ์ กิจการผลิตภัณฑ์สุขอนามัยจาก Non-woven Fabric ที่จังหวัดสระแก้ว กิจการแปรรูปยางขั้นต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และ กิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เงินลงทุนจากต่างชาติในโครงการเหล่านี้จึงตอบโจทย์มิติด้านเศรษฐกิจที่ครอบคลุมเป้าหมายที่ 7 ถึง 11 ของ SDGs เพราะนำไปสู่การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน
“ภารกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุนจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่เพิ่มตัวเลขรายได้การส่งออกและเพิ่มตัวเลขการลงทุนจากต่าชาติเท่านั้น แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากตัวเลขเหล่านี้ จะส่งต่อไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ไม่ว่าจะมาจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น หรือโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการไทย ตามนโยบายและเป้าหมายของนายกฯ เศรษฐา ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์” ผู้แทนการค้าย้ำ