ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป., ว่าที่ พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.พงษ์พิทักษ์ เหล็กชูชาติ รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.พงศกร ตันอารีย์ รอง ผกก.3 บก.ป. และ พ.ต.ท.อภิมัณฑ์ บานชื่น รอง ผกก.3 บก.ป.เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.รัฐมนตรี พันชูกลาง สว.กก.3 บก.ป. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ป.ร่วมกันจับกุม นายนิรุตต์  อายุ 46 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาตลิ่งชันที่ จ.378/2566 ลง 25 กรกฎาคม 2566 โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง”สถานที่จับกุม บริเวณถนนหน้าหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อาคารบี ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

พร้อมกับพบหมายจับอีกจำนวน 2 หมาย ดังนี้ 1. หมายจับศาลแขวงภูเก็ตที่ 132/2565 ลง 19 พ.ค.2565 โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันโดยทุจริตหรือ โดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” 2. หมายจับศาลจังหวัดฮอดที่ 68/2565 ลง 19 ก.ย.2565 โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”

ซึ่งพฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาได้มีผู้เสียหายร้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม เข้าติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับที่ได้หลอกลวงผู้เสียหาย แต่ยังลอยนวล ทั้งยังสืบทราบว่าผู้ต้องหารายดังกล่าวมีหมายจับติดตัวอีกจำนวนหลายหมาย ยังไม่สามารถจับกุมได้ พฤติการณ์กล่าวคือ ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายแจ้งว่า นายนิรุตต์  กับพวกได้โทรศัพท์มาหาผู้เสียหาย โดยได้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจสังกัดจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบพบพัสดุของผู้เสียหาย เป็นสิ่งของผิดกฎหมายตกค้างอยู่ที่ไปรษณีย์ จึงอ้างว่าจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ธนาคารทำการตรวจสอบบัญชี โดยต้องให้ความร่วมมือ และหากไม่ให้ความร่วมมือจะทำการอายัดบัญชีของผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวและตกใจมาก ไม่ทันยั้งสติ หลงเชื่อ รีบโอนเงินจากบัญชีของตนเข้าบัญชีธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จํากัด(มหาชน) ชื่อนายนิรุตต์ฯ เป็นจำนวนกว่า 139,000 บาท หลังจากโอนเงินไปแล้วผู้เสียหาย ไม่สามารถติดต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ จึงเชื่อว่าถูกกลุ่มบุคคลมิจฉาชีพดังกล่าวหลอก จึงมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดําเนินคดีตามกฎหมาย

 

กระทั่งพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติต่อศาลให้ทำการออกหมายจับ และศาลอนุมัติตามคำขอเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ป. ทำการสืบสวนทราบว่า หลังจากเกิดเหตุ นายนิรุตต์ฯ ได้หลบหนีมาอยู่ที่ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง อาคารบี ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จากการตรวจสอบประวัตินายนิรุตต์ พบมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาก่อน ถูกจำคุกนานกว่า 5 ปี และยังมีหมายจับติดตัวอีกจำนวน 2 หมาย ล้วนเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำกำลังลงพื้นที่เข้าตรวจสอบบริเวณดังกล่าว กระทั่งพบนายนิรุตต์ฯ ยืนอยู่บริเวณถนนหน้าหมู่บ้านดังกล่าวจริง จึงเข้าจับกุมตัว นายนิรุตต์ฯ จากการสอบถามนายนิรุตต์ฯ ให้การรับสารภาพว่าตน เป็นผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า จำนวนกว่า 3 บัญชี ได้รับค่าจ้างมาบัญชีละ 3,00-4,000 บาท  ส่วนสมุดบัญชีตนไม่ได้เป็นผู้ถือ ซึ่งคิดว่าอยากได้เพียงเงินค่าจ้างไม่คิดว่าจะเป็นความผิด

ภายหลัง 2-3 ปี สื่อได้ออกข่าวเกี่ยวกับการจับกุมบัญชีม้า ตนจึงเกิดความหวาดกลัวและคิดว่าตนมีความผิดแน่ กระทั่งถูกจับกุมในที่สุด จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สน.ท่าพระ บช.น. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

จากการสอบสวนเบื้องต้น ผู้ต้องหารับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา