วช. ลงพื้นที่ติดตามผลสาธิตการใช้งานระบบตรวจสอบการบุกรุกตามแนวชายแดนด้วยระบบเซ็นเซอร์ ที่ฐานฉก.นย.182 พร้อมเพิ่มศักยภาพและพัฒนาใช้กับการตรวจสอบทางน้ำที่แม่น้ำโขง
วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น.ที่หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ 182 บ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ประธานคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการกลุ่มเรื่องสังคมไทยไร้ความรุนแรง ปี 2566 และนางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 เป็นตัวแทนจาก วช. ลงพื้นที่ติดตามประเมินผล และร่วมสังเกตการณ์การสาธิตการใช้งานระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวชายแดนด้วยเซ็นเซอร์ตรวจวัดการสั่นสะเทือน และเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ ซึ่งโครงการดังกล่าวมี พลอากาศตรี จิรชัย ผุดผ่อง รองเจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมเป็นหัวหน้าโครงการ
นางสาวสตตกมล กล่าวว่า โครงการนี้ทางวช.ได้ให้งบประมาณกับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่กลาโหม ซึ่งวช.ให้ความสนใจในมิติของสังคมและความมั่นคง โดยการวิจัยเครื่องเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวอยู่ในมิติโครงการสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งผลจากการทำเครื่องมือในการตรวจจับครั้งนี้ได้ประโยชน์ในการปฏิบัติอย่างดี ทั้งในเรื่องการหลบหนีเข้าเมือง และการขนสินค้าหนีภาษี และสามารถลดความรุนแรงได้ ซึ่งเครื่องมือที่ได้ผลิตขึ้นมาครั้งนี้มีประสิทธิที่น่าพอใจในการทำงานสูง อย่างไรก็ตามเรายังอยากเห็นและพัฒนาในการต่อยอดต่อไปในสภาพพื้นที่อื่นๆด้วย
พลอากาศตรีจิรชัย กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวขายแดนด้วยเซ็นเซอร์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนและเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ ได้พัฒนาระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวชายแดน โดยใช้โครงข่ายสื่อสารระยะไกล LoRa ที่มีคุณสมบัติกินพลังงานต่ำ ใช้เซ็นเซอร์วัดการสั่นสะเทือนและเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติเพื่อให้ระบบมีความถูกต้องแม่นยำ มาสนับสนุนแผนบริหารจัดการชายแดนสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและมีระบบตรวจการณ์ปัญหาความมั่นคงบริเวณช่องทางสัญจรข้ามแดนและพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ โดยดำเนินการวิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศและกำหนด พื้นที่วิจัย
“สำหรับการออกแบบ วางระบบและติดตั้งโครงข่ายสื่อสารสำหรับเฝ้าตรวจแนวชายแดน ออกแบบการวางระบบโครงข่ายสื่อสาร โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดตราดและจังหวัดจันทบุรีที่มีสภาพเป็นภูเขา และมีการลักลอบเข้าเมืองและลักลอบขนสินค้าหนีภาษีอยู่จำนวนมากซึ่งระบบนี้สามารถนำมาประยุกต์ได้อย่างเหมาะสม โดยการตรวจจับการเคลื่อนไหวของมนุษย์และมีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งอุปกรณ์ตรวจจับมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดีโดยเฉพาะในเรื่องน้ำ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์มีจุดอ่อนอยู่ที่พลังงงานที่ตัวเซนเซอร์จะต้องมีการเปลี่ยนในทุกช่วงการทำงานต่อรอบงาน 6 เดือน ทั้งนี้อุปกรณ์นี้มีจุดอ่อนตรงที่จะใช้ในพื้นที่เปิดไม่ได้ผล จะใช้ได่เฉพาะช่องทางธรรมชาติ เช่นทีทตราด และในพื้นที่มีภูมิประเทศใกล้เคียงกันรอบชายแดนไทย ส่วนทางน้ำจะได้มีการพัฒนาและนำมาใช้ที่แม่น้ำโขงต่อไป“
สำหรับเฝ้าตรวจแนวชายแดนที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศของไทย และพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยความมั่นคง โดยใช้โครงข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งเตือนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งกับชีวิตและทรัพย์สิน นอกเหนือจากนี้สามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้กับการตรวจวัดภัยทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การวัดแผ่นดินไหว ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และ ไฟป่า เป็นต้น
ส่วนรศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ระบบที่ทางวช.ในทุนวิจัยครั้งนี้นับว่าทันสมัยในการตรวจจับการสั่นสะเทือนเหมือนที่ต่างประเทศได้ทำมาซึ่งในพื้นทีทจังหวัดตราดที่เป็นพื้นที่ช่องทางธรรมชาตินับว่าเครื่องมือนี้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพลดกำลังพล การดูแลรักษาก็ไม่ลำบากนัก และทำงานได้ตลอด 24 ชม.และคงทนต่อสภาพแวดล้อมของจังหวัดตราดที่มีฝนตกมาก และที่ดีก็คือ นำไปพัฒนาต่อ นำไปใช้ต่อได้ดี หากมีการนำไปใช้ต่อและอีกทั้งยังสามารถนำต้นแบบนี้ไปขยายผลต่อไปได้นับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ต่อการทำงานครั้งนี้
ทั้งนี้ วช.ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 แผนงาน P14 พัฒนานโยบายและ ต้นแบบเพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะในการดำรงชีวิตโดยใช้การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม สังคมไทยไร้ความรุนแรงและอยู่รวมกันอย่างสันติซึ่งการลงพื้นที่ติดตาม ประเมินผล และร่วมสังเกตการณ์การสาธิตการใช้งานในครั้งนี้ เพื่อนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ และนำข้อบกพร่องมาแก้ไขทำให้เซ็นเซอร์ตรวจวัดการสั่นสะเทือน และเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติสามารถใช้งานได้ในระยะที่ไกลขึ้น มีความแม่นยำมากขึ้น และทำให้การเฝ้าตรวจแนวชายแดนสะดวก ยิ่งขึ้น