คดีถึงที่สุด “ชาวเลราไวย์”ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด “ศาล”พิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจ เผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดี นายสมศักดิ์ เจริญทรัพย์ และพวกรวม 10 คน เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ นางสาวอ้อมใจ กันเสนาะ, นายเจริญ ดำรงเกษตร, นางสอน หาดทรายทอง, นางสาวเย็นจิต หมิเด็น และนางสาวสมพอง แซ่ชั่ว เป็นจำเลยที่ 1-5 โจทก์อ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 8324 ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต แต่จำเลยทั้ง 5 ถือวิสาสะเข้ามาตั้งแผงค้าขายอาหารทะเลสดขนาดกว้างยาวแผงละประมาณ 3 เมตร โดยจำเลยที่ 1 และ 2 มีคนละ 2 แผง และจำเลยที่ 3 ถึง 5 มีคนละ 1 แผง จึงขอให้รื้อถอนและขนย้ายแผงค้าขายอาหารทะเลสด พร้อมทั้งบริวารออกไป และห้ามยุ่งเกี่ยวที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ทั้งเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย จากจำเลยที่ 1 และ 2 จำนวน 12,000 บาทต่อเดือน และจำเลยที่ 3 ถึง 5 จำนวน 6,000 บาทต่อเดือน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาเชื่อในพยานหลักฐานของจำเลยที่สำคัญคือ การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่ดินพิพาท พ.ศ.2493, 2510, 2519, 2538, 2545 และ 2552 พบว่าหมู่บ้านชาวเลราไวย์ปลูกสร้างอยู่ในสวนมะพร้าว ตั้งแต่ปี 2493 แล้ว รวมทั้งการขุดค้นพบโครงกระดูกบริเวณที่พิพาทโดยนักโบราณคดีกรมศิลปากร และการตรวจดีเอ็นเอ โครงกระดูกที่พบกับชาวเลราไวย์ในปัจจุบันโดยสถาบันนิติวิทยาสตร์ พบว่ามีความเกี่ยวพันเป็นบรรพบุรุษของชาวเลราไวย์ในปัจจุบัน
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีสำเนาทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้พื้นที่พิพาทมากที่สุด พบว่ามีชาวเลราไวย์เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ.2498 และภาพถ่ายการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาที่ชุมชนราไวย์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2502 มีภาพชาวเลราไวย์ร่วมรับเสด็จ มีบ้านพักอาศัยลักษณะเป็นหมู่บ้านและมีต้นมะพร้าวจำนวนมาก ศาลอุทธรณ์ ภาค 8 พิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น และเห็นว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“คำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นที่สุด จะเป็นบรรทัดฐานของการยอมรับสิทธิในที่ดินของชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินในบริเวณนั้นมาเนิ่นนาน ก่อนมีการออกเอกสารสิทธิใหม่มาทับ ซึ่งทำให้การออกเอกสารสิทธิใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องดูการดำเนินการเพิกถอนเอกสารโฉนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้โดยกรมที่ดินต่อไป”นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์กล่าวว่า การชนะคดีเป็นเรื่องที่ชาวบ้านดีใจกันมากเพราะส่งผลให้เอกชนไม่กล้ารุกพื้นที่หน้าหาด และทำให้ชาวเลในชุมชนกล้าขยายแผงขายปลาออกไปได้เพราะมั่นใจในการมีพื้นที่ขายปลา อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้บริษัทเอกชนที่ต้องการพื้นที่บริเวณเส้นทางดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้เดินไปสู่บาลัย(พื้นที่ประกอบพิธีกรรม) ได้เชิญชาวเลไปหารือ 2 รอบเพื่อขอใช้พื้นที่แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม
“ตอนนี้ชาวบ้านได้ใช้พื้นที่หน้าหาดบริเวณนี้เป็นที่นั่งพักเพราะการอยู่ในชุมชนอากาศร้อนและแอรัด พื้นที่บริเวณนี้พวกเราใช้ทำไซหาปลา ใช้ซ่อมเรือมาตั้งแต่รุ่นก่อนๆ เขาเข้ามาเคลียร์หลายรอบ บ้างให้ผู้นำท้องถิ่นเจรจา แต่ยังไม่มีข้อตกลง เขาต้องการรังวัดแนวเขต แต่เราไม่ลงนามเพราะต้องให้ส่วนกลาง เช่น ตัวแทนอำเภอ ตัวแทนเจ้าท่า และตัวแทนเทศบาล มาเป็นฝ่ายลงนาม”นายสนิท กล่าว