“ชุมพร” ประตูสู่ภาคใต้ เปรียบเสมือนประตูของ 14 จังหวัดในภาคใต้ ตั้งอยู่บริเวณภาคใต้ตอนบนฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย จึงนับได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีทำเลเหมาะสมต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ
สำหรับ จ.ชุมพร มีรายได้หลักมาจากภาคเกษตรกรรมมากที่สุด ซึ่งมีสินค้าหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน มังคุด สุกร ไก่เนื้อ โคเนื้อ การทําประมงทะเล และไม้ยางพาราแปรรูป แสดงให้เห็นว่า (ภาคการเกษตร) มีความสําคัญต่อการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพรเป็นอย่างมาก ปัจจุบันเมื่อเกิดปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจที่มีการพลิกผัน ส่งผลให้ราคา ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ผลผลิตตกต่ำ จึงทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชไม้ผลทดแทนเป็นหลัก โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ที่ได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การส่งเสริม และสนับสนุนของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร ให้เกษตรกรได้ประกอบอาชีพ และยืนหยัดด้วยตนเอง
นายวินัย คงเรือง เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน หมู่ 18 ต.ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร กล่าวว่า ตนเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิมรดกตกทอดที่ดินทำกิน ส.ป.ก.จากบิดา โดยได้รับการจัดสรร จำนวน 7 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยและ สระน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 1 ไร่ และปลูกทุเรียน ทั้งหมด 6 ไร่ เดิมที่ดินทั้งหมดเป็นลักษณะพื้นที่ราบสูงปลูกพืชปาล์มน้ำมันเป็นหลัก ทั้งนี้ รายได้จากปาล์มน้ำมันที่มีไม่เพียงพอ
อีกทั้ง ประสบปัญหาเรื่องของราคาผลผลิตตกต่ำ จึงคิดว่าทำอย่างไรให้ตนเองมีรายได้สม่ำเสมอ และถูกต้องตามลักษณะภูมิศาสตร์พื้นที่ทำกิน จึงตัดสินใจล้มพืชปาล์มน้ำมันทั้งหมดและหันมาปลูกทุเรียนทดแทน ซึ่งได้การตอบรับด้านผลผลิตและรายได้อย่างน่าพอใจจนประสบความสำเร็จ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ ส.ป.ก ชุมพร ที่เข้ามาดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เช่น จัดสรรที่ดินทำกินให้แหล่งเงินทุนต่อยอดอาชีพ มีความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังได้รับตำแหน่ง Smart farmer ทำให้ตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความภาคภูมิใจกับอาชีพเกษตรกร
ส่วน นายอิทธิเทพ จันทร์แก้ว เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน หมู่ 18 ต.ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน เนื้อที่ 24 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็น พื้นที่ที่อยู่อาศัย และสระน้ำ จำนวน 3 ไร่ และปลูกทุเรียนทั้งหมด จำนวน 20 ไร่ โดยจุดเริ่มต้นของ ส.ป.ก. ได้เข้ามาดูแลในเรื่องของการจัดระเบียบการจับจองที่ดินทำกินในพื้นที่ อ.ละแม จัดสรรที่ดินให้เกษตรกร และออกเอกสารสิทธิในการทำกินอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ตนได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งแบ่งทำสวนยางครึ่งหนึ่ง สวนปาล์มครึ่งหนึ่ง
ต่อมา ได้เปลี่ยนจากการทำสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน เพราะประสบปัญหารายได้ตกต่ำ จึงตัดสินใจได้ลองเปลี่ยน จากการปลูกยาง หันมาพิจารณาอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ อย่าง “ทุเรียน” ที่กำลังมีกระแสในขณะนั้น ในกิโลกรัม ละ 60-70 บาท จึงมองเห็นว่าไม้ผลชนิดนี้มีอนาคตที่จะเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและมีการส่งออกผลผลิตสู่ตลาดประเทศจีน เพราะฉะนั้นจากสวนทุเรียนที่มีรายได้ปีละครั้ง แต่เมื่อได้ผลผลิตจะได้รับเป็นก้อนในหลักแสน ซึ่งต่างจากยางพาราอาจมีรายได้เกือบทุกวันก็จริง แต่หากในบางวันที่มีฝนตกก็ไม่สามารถมีรายได้ บวกกับราคาไม่ดีจึงทำให้รายได้น้อย และนี้ก็คือความสำเร็จที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการส่งเสริมของ ส.ป.ก.ชุมพร