ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของพรรคร่วมรัฐบาล ต่อแรงบีบจากการปรับคณะรัฐมนตรี และนโยบายเรื่องกัญชา คู่ขนานไปกับท่าที “พับเพียบค้าน”ของ “ก้าวไกล”กรณีข้าว 10 ปี ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองไม่อาจหลุดโฟกัสไปจาก “ดีลฮ่องกง”ได้

กระนั้น ท่ามกลาง สถานการณ์ระหว่างเขาควายที่พรรคก้าวไกลต้องลุ้นกับคดียุบพรรคที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะขยายระยะเวลาการชี้แจงไปอีก 15 วัน ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่จะเป็นครั้งสุดท้าย โดยขีดเส้นตายในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ ที่อาจเป็นตัวแปร “ล้มกระดาน” !!

กระนั้น หากพิเคราะห์อย่างสังเคราะห์วิบากกรรมของพรรคก้าวไกลที่เดินมาถึงโค้งอันตรายหักศอกนี้ ก็ล้วนมาจาก มาตรา 112 ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567ที่ผ่านมา ที่พรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวปลุก “ด้อมส้ม” หวนรำลึกครบรอบ 1ปีการเลือกตั้ง โดยโพสต์คลิปวิดีโอ ที่มีเนื้อหาถึงความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากผลการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันยังโพสต์ตั้งคำถามว่า ยังจำได้หรือไม่ว่าเมื่อ 1 ปีที่แล้ว เคยมีความหวังกับประเทศนี้แค่ไหนจากนโยบายที่พรรคก้าวไกลหาเสียง เช่น  ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ค่าแรงและสวัสดิการถ้วนหน้า “14 พฤษภาปีที่แล้ว รู้สึกอย่างไร14 พฤษภาปีนี้ รู้สึกอย่างไร”

การเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกล ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเขาเคยได้รับคะแนนเสียงมากเป็นพรรคอันดับ 1 คือ150 เสียง ทว่าไม่อาจไปถึงดวงดาวได้ พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งหากย้อนกลับไปดู จากแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่แถลงยกเลิกเอ็มโอยู 8 พรรค เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 มีข้อความระบุชัด

“วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้ โดยมีเพียง 324 เสียงจากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเต็มความสามารถทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุน 141 เสียง แต่เนื่องจากปรากฏเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลรับทราบท่าทีเหล่านี้ แต่ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นการแน่ชัดว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้

ดังนั้น ที่ประชุม 8 พรรคร่วม จึงมีมติส่งมอบภารกิจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทย หาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และสมาชิกวุฒิสภาได้”

จากแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ว่าการกอดมาตรา 112 เอาไว้ของ พรรคก้าวไกล คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการเลือกตั้งปี 2566 กลายเป็น “ปราสาททราย”

ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การกระทำของ “พิธา” และ พรรคก้าวไกล กรณีหาเสียงแก้ไข ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง สั่งให้เลิกการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การเขียนเพื่อให้มีการยกเลิกกฎหมาย ม.112 และไม่ให้แก้ ม.112 

ซึ่งเป็นสารตั้งต้น นำไปสู่วันที่ 18 มีนาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และแม้พวกเขาจะยอมถอยด้วยการลบนโยบายแก้ไขมาตรา112 ออกจากเว็บไซต์ และไม่เคลื่อนไหวไปเป็นประกันตัวผู้ต้องหามาตรา 112 แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่าโอกาสในการรอดจากคดียุบพรรคนั้นมีน้อยถึงน้อยที่สุด

เนื่องจากกกต.นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว จึงคาดการณ์กันว่า ฉากจบของพรรคก้าวไกลจะออกมาได้ 3 หน้า

คือ หนึ่ง 1.ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

สอง ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค รวมกับสส.ที่อยู่ในกลุ่ม 44 สส.ที่ยื่นแก้ไขกฎหมายมาตรา 112

และสาม คือ ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค รวมสส.ในกลุ่ม 44สส.ที่ยื่นแก้ไขกฎหมายมาตรา 112  พ่วงเอา สส.พรรคก้าวไกลทั้งพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งจากการนำเสนอนโยบาย 112 ในการหาเสียงเลือกตั้งด้วย

ซึ่งหากไปถึงขั้นนั้น การเตรียมตั้งพรรคการเมืองใหม่ไว้รองรับสส.ของพรรคก้าวไกลก็อาจไม่มีความหมาย เมื่อไม่มีสส.เหลืออยู่ และนั่นย่อมหมายถึง โอกาสที่ “ดีลฮ่องกง”  จับมือระหว่างเพื่อไทย กับ ก้าวไกล ตั้งรัฐบาลก็พลอยล่มไปด้วยหรือไม่

แต่แม้สถานการณ์อาจจะไม่เลวร้ายไหลไปถึงทางที่สาม แต่ก็มองกันว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสรอดยาก เพียงแต่จะเจ็บมาก หรือเจ็บน้อยเท่านั้น

ในจังหวะ การสูญเสีย เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” ที่ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาจากพรรคก้าวไกลที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องเร่งผลักดันนิรโทษกรรม  ไม่ว่าจะผ่านท่าทีของ พรรณิการ์ วานิช หรือ “ช่อ” ที่ออกมาตั้งคำถาม ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรือ

จังหวะไหลไปในทิศทางที่ ไม่ว่าจะเป็นแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล หรือ ความเห็นของพรรณิการ์ วานิช  ที่ชิงจังหวะสร้างแรงเสียดทานต่อมาตรา 112 และกลเกมในกฎหมายนิรโทษกรรม ที่อาจตกกระทบไปถึงคดียุบพรรครวมทั้งชะตากรรมของ 44 สส.ที่อยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. ท่ามกลางเสียงกระซิบแผ่วถึง “รัฐประหาร”  ก้าวไกล ด้อมส้ม จะขยับก้าวอย่างไร หรือใช้โอกาสได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ให้กลายเป็นวิกฤติซ้ำเติมวิกฤติ