หมายเหตุ  : “จตุพร พรหมพันธุ์” วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน  วิเคราะห์เจาะลึกไปที่สนามการเลือกตั้ง ระดับท้องถิ่น ในการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาอบจ. จะเป็นโอกาสของ “บ้านใหญ่” กลุ่มการเมืองใหญ่ หรือกลุ่มการเมืองอิสระ หรือไม่และอย่างไร  

ตลอดจนการเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จะส่งผลต่อพรรคเพื่อไทย หรือไม่ อีกทั้งยังเป็นความท้าทายสำหรับ “พรรคก้าวไกล” ด้วยหรือไม่  ติดตามได้จากรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567

- อยากให้มองความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งนายกอบจ. ที่เริ่มมีการขยับกันแล้ว รวมถึงพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ความจริงแล้วการเลือกนายกอบจ.จะแตกต่างไปจาก การเลือกสส. เช่นการเลือกตั้งนายกอบจ.ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า เพียงแต่เป็นการเลือกตั้งทั้งจังหวัด ดังนั้นพรรคการเมืองจึงไม่ใช่ปัจจัย ที่จะชี้ขาดไปทุกเรื่อง ในบางพื้นที่ ได้ใช้ในนามกลุ่ม ในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นพรรคการเมืองแล้วจะชนะ ซึ่งมันมีรายละเอียด มีความซับซ้อนมากกว่าการเลือกตั้งสส.  เพียงแต่การบริหารจัดการ การสร้างความนิยมจะต่างจากการเลือกตั้งผู้แทนฯ 

ในการลือกตั้งผู้แทนฯ จะเป็นกระแสใหญ่ จากส่วนกลาง เหมือนยิงปืนใหญ่เข้าไป  ขณะที่การเลือกนายกอบจ.เป็นการเลือกในพื้นที่เท่านั้น ยกตัวอย่างครั้งที่แล้ว มีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ แต่คนสนใจที่จุดเดียวคือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องในจังหวัดนั้นๆ และไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองใหญ่ๆจะชนะ ซึ่งในหลายพื้นที่พบว่า ผู้สมัครในนามอิสระ จะชนะมากกว่าที่สังกัดพรรคการเมืองเสียอีก 

-ดังนั้นที่เราเห็นชัดเจน และเกิดเอฟเฟกซ์ขึ้นคือที่จ.ปทุมธานี ซึ่งผู้ชนะมาในนามอิสระ และล่าสุดเกิดปรากฎการณ์ที่นายกอบจ.หลายจังหวัดลาออกก่อนครบวาระ

ปรากฎการณ์ของจ.ปทุมธานี นครสวรรค์ และอ่างทอง ที่นายกอบจ.ลาออก ความจริงก็เป็นการเมืองระบบของประเทศอังกฤษ เช่นเมื่อฝ่ายบริหารเห็นว่ากระแสสูงอยู่ สำหรับอังกฤษก็ใช้วิธีการยุบสภาฯ สำหรับประเทศไทยแล้วอาจจะให้เหตุผลเรื่องของการทำงานแก้ไขปัญหา เพียงแต่กรณีปทุมธานี ที่มีการลาออก ซึ่งเดิม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เดิมก็เคยลงในนามพรรคเพื่อไทย  แต่มาครั้งนี้ลงในนามกลุ่มอิสระ ดังนั้นเชื่อว่าในการทำพื้นที่ ในช่วงของการเป็นนายกอบจ.ที่ผ่านมา หากไปเลือกในบรรยากาศที่เลือกตั้งพร้อมกันของ ส.อบจ. ที่ยังอยู่ในวาระ ก็จะควบคุมอะไรได้ยากลำบาก แต่ในกรณีนี้จะเห็นตัวกันทั้งหมด

ดังนั้นผมเห็นว่า เมื่อเขาเห็นว่าในสถานการณ์ที่พรรคการเมืองมีปัญหากับเขา ก็มีสิทธิ์คิด เพราะจะสู้ยากมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นอย่างที่บอกเอาไว้ว่า พรรคการเมืองก็ไม่ใช่จะชนะในสนามท้องถิ่น  ในกรณีที่จ.ปทุมธานี จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่กลุ่มอิสระจะชนะพรรคการเมือง

-แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแบรนด์ของพรรคเพื่อไทย จะใช้ไม่ได้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น

ยังไม่ใช่ข้อสรุป แต่อาจจะได้ในบางพื้นที่ แต่จะไม่ได้ทุกที่ หมายความว่า ในหลากหลายพื้นที่ ก็ยังพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และในครั้งนี้ในความเป็นพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยก็ต้องแข่งกับพรรคก้าวไกล ซึ่งแม้พรรคก้าวไกลจะถูกยุบ แต่ในนามพรรคอื่นใด ในร่างใหม่ของพรรคก้าวไกล ก็จะเป็นการแข่งกันใน 3 ทาง เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และกลุ่มอิสระ

สำหรับกลุ่มอิสระ หากรณรงค์หาเสียงทั้งในทางแอร์วอร์ กราวนด์วอร์ ก็จะสามารถสอดแทรกเข้าไปได้ ในพื้นที่ภาคใต้ เราพบว่า แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังมีในนามกลุ่มอิสระ ซึ่งกลุ่มลักษณะแบบนี้จะสามารถขอความร่วมมือกับกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้ส่งลงรับสมัครเลือกตั้ง

ตัวอย่างเช่น มี 2 พรรคการเมืองลงแข่งกัน แต่ที่เหลือพรรคอื่นเขาไม่ได้ส่งลง แต่ถ้าไปส่งในนามพรรค ก็จะมีคนไม่กล้ามาโหวตให้ แต่เมื่อลงในนามอิสระ ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้กว้างขวางกว่า คือการเอาความเป็นพวก เหนือกว่าความเป็นพรรค

-มองความเป็นไปได้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล จะร่วมมือกันหรือไม่

ยังเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะคนที่ตัดสินใจ ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ต่างสำคัญตนว่าจะชนะกันทุกคน ไม่มีใครคิดว่าตัวเองจะต้องพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่ได้ร่วมในเชิงอุดมคติ อุดมการณ์ แต่เป็นลักษณะที่เรียกว่า ถางป่าแล้วมาเจอกัน มาสัมพันธ์กันแบบฉุกเฉิน ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นมุมของการร่วมมือกันส่งในบางพื้นที่ ที่จะมีการวางแผน เช่นที่จ.พะเยา พื้นที่ของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ซึ่งน้องชาย ที่เคยอยู่ในนามพรรคพลังประชารัฐ ก็จะมาลงในนามพรรคเพื่อไทย แต่ในส่วนจังหวัดอื่นๆก็ยากที่จะดำเนินการเช่นนั้นได้

-กรณีพรรคก้าวไกลหากถูกยุบ อาจจะไม่กระทบต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากพรรคก็อาจจะอวตารไปเป็นชื่อพรรคอื่น

การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเรื่องท้าทาย พรรคก้าวไกล เพียงแต่จะเป็นในนามพรรคอื่น หากพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค เพราะในการเลือกตั้งนายกอบจ.ที่ผ่านมา เขาส่งในนามคณะก้าวหน้า และไม่ได้เลยสักที่นั่งเดียว  เนื่องจากมีความซับซ้อนมากกว่าการเลือกตั้งสส. การเลือกตั้งสส.ที่ผ่านมา ในช่วงโค้งสุดท้าย ที่พรรคก้าวไกลกระแสมา ซึ่งตอนแรกพรรคเพื่อไทยกระแสนำ

แต่การเลือกตั้งนายกอบจ.มันมีความลึกซึ้งมากกว่าการเลือกตั้งสส. สิ่งสำคัญคือแอร์วอร์ จากส่วนกลาง ช่วยได้น้อยมาก และคะแนนของพรรคก้าวไกล จะมาในส่วนของการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่เมื่อการเลือกตั้งนายกอบจ.ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ดังนั้นพรรคก้าวไกล จึงต้องวางแผนบริหารจัดการว่าจะให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ ในวันเลือกตั้งได้อย่างไร

ทั้งหมดคือการท้าทาย และการบริหารจัดการ ว่าใครจะออกแบบได้ตรง กับความต้องการของประชาชน หากใครทำได้ คนนั้นก็ชนะการเลือกตั้งไป

- หากมองไปที่การเคลื่อนไหวของคุณทักษิณ ไปตามจังหวัดต่างๆ ก็ถูกมองว่าเป็นการท้าทายการเลือกตั้งสนามอบจ.

เรื่องนี้อยู่ที่มุมมองว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษ เพราะกระแสของคุณทักษิณ ไม่เหมือนเดิม คือคนที่เคยได้รับความนิยมเมื่อ 20กว่าปีที่แล้ว  เมื่อเวลาผ่านไป เสียจุดยืนตัวเอง ส่งผลให้ความนิยมไม่สามารถอยู่ได้ในระดับเดิม 

ถ้าเป็นก่อนวันที่ 22 ส.ค.2566 ผมก็เชื่อว่าพลานุภาพของอดีตนายกฯทักษิณ จะเบ่งบาน แต่พอหลังจากเหตุการณ์วันที่ 22 ส.ค.2566 ที่คุณทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทย  และมีเรื่องราวมากมาย  ผมเห็นว่าคุณทักษิณ ไม่สามารถที่จะไปพลิกเกมในสนามเลือกตั้งได้ ซึ่งอาจจะได้ในบางจุด เพราะมันมีหลายปัจจัยไม่ใช่ปัจจัยเดียว คือตัวคุณทักษิณ

-แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร สำหรับการเลือกตั้งนายกอบจ.จะมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ ต่อดีลลับของคุณทักษิณ

ผมเข้าใจว่า ดีลของคุณทักษิณ คงจะจบก่อน ที่จะไปถึงวันเลือกตั้งนายกอบจ. หมายความว่าดีล ได้ถูกขยายเวลาออกไป เพราะฉะนั้นให้ดูวันที่ 29 พ.ค.นี้ว่าจะมีเข็มทิศ หรือบริบททางการเมืองอย่างไร  วันนั้นจะเป็นคำตอบ

-ดังนั้นหากจะสรุปว่าการเลือกตั้งนายกอบจ.และส.อบจ.ที่จะเกิดขึ้น จะถือเป็นความท้าทายทั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล และคุณทักษิณ ในขณะเดียวกัน ก็ยังเปิดโอกาสให้กับผู้สมัครอิสระได้แจ้งเกิด และจะเป็นฐานใหม่หรือฐานเก่า

ความจริงแล้วในหลายจังหวัดกลุ่มอิสระครองแชมป์มายาวนาน และเขาก็เลือกลงสมัครในนามอิสระมากกว่าพรรคการเมือง ทั้งที่เขามีความใกล้ชิด และบางคนก็อยู่ในพรรคการเมือง แต่ก็อย่างที่ผมบอกคือหากเขาลงสมัครในนามพรรค ก็จะได้เสียงโหวตจากพรรคเดียว แล้วทำไมต้องไปปิดประตูใส่ เพราะฉะนั้นเขาจึงมองไกลว่า ใครที่ไม่ใช่พวกตรงข้าม ก็มาเป็นพวกกับเขาได้ โดยไม่ได้สนใจว่าพรรคการเมืองนั้นจะต่อสู้กันมาอย่างไร  เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่การออกแบบในการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ก็อยู่ที่ว่าใครจะออกแบบให้เป็น ตรงกับความต้องการของประชาชน คนนั้นก็สามารถที่จะกำชัยชนะได้

-ถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ อย่างพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้เอาบ้านใหญ่

เรื่องนี้พรรคก้าวไกลก็ต้องสู้กับหลักคิดของเขาเอง ซึ่งการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งที่แล้ว เป็นคำตอบที่บอกว่าแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นในครั้งนี้พรรคก้าวไกลก็ควรที่จะทบทวนบทเรียน จากครั้งที่แล้วว่าแพ้อย่างไร เพราะฉะนั้นการเมืองเป็นเรื่องของการปรับตัว ให้สอดคล้องกับภูมิรัฐศาสตร์ ของแต่ละพื้นที่ แนวทางนโยบายต่างๆ ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ฉะนั้นทำอย่างไร ให้แพ้ ทำอย่างไรให้ชนะ คนที่ทำการเลือกตั้งก็รู้อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การออกแบบ