สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

พระสมเด็จอรหัง ซึ่งเชื่อกันว่าพระชนิดนี้เป็นพระที่สมเด็จพระสังฆราชสุก ญาณสังวร (ไก่เถื่อน) เป็นผู้สร้างไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระคณาจารย์ผู้ชํ่าชองพระกัมมัฏฐาน เป็นที่เคารพสักการะแห่งชนทั้งหลาย ทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารธรรม มีเมตตาแก่กล้านัก ถึงกับสามารถเลี้ยงไก่เถื่อนให้เชื่องได้เสมอด้วยไก่บ้าน ฉะนั้น คนทั้งหลาย พากันถวายพระเกียรตินามว่า “สังฆราชไก่เถื่อน”          

พิมพ์ฐานสามชั้น เนื้อขาว                                                

พระสมเด็จอรหัง เป็นพระเนื้อผง มวลสารในการสร้างเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม คือ ใช้ปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก ส่วนผสมอื่นๆ ก็คล้ายคลึงกัน เช่น เศษอาหารที่ฉัน วัสดุบูชา และผงอิทธิเจ ผิดกันตรงสัดส่วนที่นำมาผสมกันเท่านั้นเอง

พิมพ์ฐานสามชั้น เนื้อแดง

พุทธลักษณะ พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐาน 3 ชั้น และมีซุ้มครอบแก้วเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม

พิมพ์ฐานคู่ เนื้อขาว

เอกลักษณ์เป็นแม่พิมพ์ที่ใช้แผ่นหินอ่อนปิดทั้ง 4 ด้าน เมื่อกดพิมพ์เป็นที่เรียบร้อย ก็จะเปิดแผ่นหินอ่อนและถอดองค์พระออกจากแม่พิมพ์ ไม่ต้องมีการตอกตัด จึงปรากฏเส้นขอบนูนทะลักขึ้นมาทั้ง 4 ด้าน

พิมพ์ฐานคู่ เนื้อแดง

เส้นซุ้มครอบแก้วเป็นเส้นเล็กและบาง พระเกศเป็นเส้นเล็ก คม และยาว พระพักตร์กลม พระกรรณทั้งสองข้างเป็นเส้นเล็กนูนและคม ข้างขวาขององค์พระจะชิดพระพักตร์มากกว่าข้างซ้าย ลำพระศอเป็นเส้นคม พระอุระเป็นรูปตัววี (V) มีเส้นอังสะ 2 เส้น คมและชัดเจนมาก พระพาหาเป็นรูปวงกลม ไม่มีหักศอก และพระเพลามีลักษณะคล้ายเรือสำปั้น

พิมพ์ฐานสามชั้น เกศอุ เนื้อขาว

พระสมเด็จอรหัง เป็นพระสมเด็จเนื้อผง รูปทรงแบบสี่แหลี่ยมชิ้นฟักมีด้วยกันทั้งหมด 8 พิมพ์ ได้แก่                              

1.พิมพ์ฐานสามชั้น เนื้อขาว                       

2.พิมพ์ฐานสามชั้น เนื้อแดง

3.พิมพ์ฐานคู่ เนื้อขาว        

4.พิมพ์ฐานคู่ เนื้อแดง        

5.พิมพ์ฐานสามชั้น เกศอุ เนื้อขาว   

6.พิมพ์เล็ก มีประภามณฑล เนื้อขาว             

7.พิมพ์เล็ก ไม่มีประภามณฑล เนื้อขาว                     

8. พิมพ์ชิ้นฟัก [พิมพ์ไพ่ตองไทย] เนื้อขาว

ที่ด้านหลังของพระมักมีการจารอักขระเป็น ตัว หนังสือขอมคำว่า “อรหัง” และอีกส่วนหนึ่งที่ใช้ตราปั๊มเป็นคำว่า “อรหัง” ก็มี มักเรียกหลังแบบนี้ว่าหลังตั้งโต๊ะกัง เนื่องจากลักษณะการปั๊ม ด้านหลังคล้ายกับตราประทับ จึงมักจะนิยม เรียกกันจนติดปากว่า “สมเด็จอรหัง”  

พระสมเด็จอรหัง เนื้อส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อผงปูนขาว เนื้อพระจะแตกต่างกันบ้าง เช่น เป็นแบบเนื้อขาว ออกหยาบมีเม็ดทรายแบบขาวละเอียด และมีแบบเนื้ออกสีแดงเรื่อๆ เนื้อนี้มักเป็นแบบเนื้อหยาบมีทราย พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ ของท่านสมเด็จพระสังฆราชสุก จะมีทั้งที่บรรจุกรุและไม่ได้บรรจุกรุ พระที่ไม่ได้ บรรจุกรุ บางองค์พบมีการลงรักไว้แต่เดิมก็มี เป็นพระสมเด็จอีกตระกูลหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาแต่ในอดีต ปัจจุบันหาพระแท้ๆ ได้ยาก           

พิมพ์เล็ก ไม่มีประภามณฑล เนื้อขาว                                                                         

จุดสังเกตและตำหนิพระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ วัดมหาธาตุ กทม. มีจุดตำหนิในการพิจารณาดังต่อไปนี้..

1. ขอบแม่พิมพ์เป็นสันนูนทั้ง 4 ด้าน  

2. พระกรรณซ้ายขององค์พระจะห่างจากพระพักตร์

3. เนื้อหัวไหล่ด้านซ้ายขององค์พระจะบางกว่าหัวไหล่ด้านขวาขององค์พระ       

4. เส้นสังฆาฏิยาวถึงพระอุทร (ท้อง)  

5. หัวฐานจะติดกับซุ้มครอบแก้วทั้งซ้าย-ขวา

6. ฐานจะเป็นเส้นคู่

ส่วนด้านพุทธคุณนั้นพระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ วัดมหาธาตุ กทม. โดดเด่นทางเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเหมือนเช่นพระสมเด็จวัดระฆังฯทุกอย่าง ครับผม