ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
บ้างก็ว่าความดีความชั่วนั้นออกมาจากในตัวคนแต่ละคน แต่ที่เป็นอยู่มันมาจากทุกด้านรอบตัวเรา
การเป็นหัวคะแนนให้กับผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาใน พ.ศ. 2543 และผู้สมัครจากตระกูลดังของจังหวัด ซึ่งก็ประสบชัยชนะตามคาด ทำให้ประชาได้รับการยอมรับจากแวดวงบริวารของนักการเมืองคนดังกล่าวเป็นอย่างมาก ครั้นต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาก็ได้รับการติดต่อเชิงขอร้องให้ช่วยลงสมัครเป็นทีมของนักการเมืองคนนี้ด้วย เขาก็ตกลงแต่โดยดี โดยไม่ได้คิดฝันว่าจะได้เป็นนักการเมืองท้องถิ่นแต่อย่างใด ทว่าเมื่อผลเลือกตั้งออกมา ทีมของนักการเมืองคนนี้ที่มีเขาอยู่ร่วมทีม ก็กวาดตำแหน่งทั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไปทั้งหมด ทำให้ประชารู้สึกว่า การเป็นนักการเมืองนั้นไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนคน นั้นจะเป็น “คนดีหรือคนชั่ว” เพราะนักการเมืองคนนี้กับคนที่ลงเลือกตั้งร่วมกับเขาหลาย ๆ คน ก็มี “ชื่อเสีย” ว่าไม่ใช่พวกคนดีมีศีลธรรมอะไรเท่าไรนัก แต่ที่ชาวบ้านเลือกเข้ามานั้น ก็เพราะ “ความเกรงใจ” ไปจนถึง “ความเกรงกลัว” นั้นมากกว่า
นักการเมืองเหล่านี้เหมือนจะย่ามใจในความยิ่งใหญ่ ทั้งจากตำแหน่งที่ได้มาและจากความยิ่งใหญ่ของ “นายใหญ่” ที่เป็นนักการเมืองระดับชาติและมีอดีตเคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของประเทศไทย เช่นเดียวกันกับชาวบ้านก็มีความภูมิใจที่ได้อยู่ใต้ปกครองของนักการเมืองกลุ่มนี้ เหมือนกับว่าได้เป็นลูกน้องของคนดัง หรือเป็นบริวารของผู้ใหญ่ในจังหวัดนี้ ที่คนในจังหวัดอื่นมีไม่ได้เหมือนพวกเขา แม้แต่ถนนหนทาง เสาไฟฟ้า เขื่อน และคูคลอง ก็สวยงามใหญ่โตกว่าจังหวัดใด ๆ ดังนั้นเวลาที่นักการเมืองเหล่านี้คิดหรือทำอะไร ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจ เพราะลุ่มหลงไปแล้วว่า คนที่เขาเลือกจะทำแต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่สวยงาม เป็นชื่อเสียงให้กับชาวจังหวัดนี้ไปจนตลอดชีวิต รวมถึงที่ไม่ได้คิดว่าจะมีการโกงกินอะไรหรือไม่แต่อย่างใดนั้นด้วย
ประชาแม้จะมีตำแหน่งเป็นถึงสมาชิกสภา อบต. และได้รับมอบหมายให้ดูแลภารกิจด้านการโยธาหรือการก่อสร้างต่าง ๆ ในตำบลของเขา แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้ศึกษาหรืออ่านกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับงานที่เขารับผิดชอบนั้นเลย เพราะเขารู้อยู่อย่างเดียวว่า ทุกสัปดาห์ต้องไปประชุมที่บ้านนายก อบต.นั้นทุกครั้ง เพื่อให้รู้ว่าในการประชุมสภา อบต.จะต้องพิจารณาเรื่องอะไร และจะต้องตัดสินใจหรือลงคะแนนกันอย่างไร โดยการประชุมก็จะจบลงด้วยการรื่นเริงสังสรรค์ เหมือนว่าไปร่วมงานเลี้ยงมากกว่าที่จะเป็นการประชุม ส่วนการประชุมจริง ๆ ณ ที่ทำการ อบต. ก็ใช้เวลาไม่นาน และไม่มีพิธีหรือขั้นตอนอะไรมาก เพียงแต่พลิกหน้ากระดาษไปมา แล้วฟังเสียงประธานว่าจะให้ทำอะไรเท่านั้น
วันหนึ่งก็มีผู้ชายสองคนแต่งตัวอย่างเรียบร้อยมาขอพบนายก อบต. บอกว่าพวกเขามาจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนมาว่ามีการทุจริตในการก่อสร้างถนนสายหนึ่งในตำบลนี้ แม้ว่าประชาจะเป็นคนที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลการใช้งบประมาณก้อนนี้ แต่เขาก็ไม่ได้ถูกเรียกให้เข้าไปให้ข้อมูลอะไรแก่เจ้าหน้าที่ สตง.ทั้งสองนั้น กระทั่ง 2 - 3 เดือนต่อมา เขาจึงได้รับหนังสือจากคณะกรรมการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กถ.) ว่าเขาถูกตั้งกรรมการสอบในข้อหาทุจริตในหน้าที่ เขารีบไปหานายก อบต. แกก็บอกว่าให้นิ่ง ๆ ไว้ ไม่ต้องตอบหรือพูดอะไร ให้บอกว่าไม่รู้ไม่ทราบ และ “ผมไม่ผิด” เพียงเท่านั้น รวมทั้งที่ไม่กล่าวถึงคนอื่นว่าได้เข้ามารับรู้รับเห็นในเรื่องนี้อย่างไร เดี๋ยว “ผู้ใหญ่” จะจัดการทุกอย่างให้เอง ซึ่งต่อมาเรื่องก็เงียบหายไปจริง ๆ โดยเขารู้แต่เพียงว่า “ผู้ใหญ่” ได้จัดการ “เคลียร์” แล้วเรียบร้อย
ปีต่อมานายก อบต.ได้ขอลาออก ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมเนื่องจากอยู่ไม่ครบเทอม “ผู้ใหญ่” ได้ให้คนมาขอให้ประชาลงสมัครรับเลือกตั้งแทน และรับประกันว่าเขาจะชนะเลือกตั้งอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องหาเสียงหรือลงทุนอะไรมาก เขาก็จำต้องยินยอม ทั้งสำนึกว่ามีบุญคุณที่ได้ช่วยเขาให้รอดพ้นข้อกล่าวหา และเกรงกลัวว่าถ้าไม่ยินยอมก็อาจจะมีภัยอื่น ๆ อย่างที่เขาได้ยินมาจากผู้คนทั้งหลาย ที่ได้เข้าไปมีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองในตระกูลนี้ แต่กระนั้นเขาก็ต้องเปลี่ยนชื่อจากประชาเป็น “ภริษศร” ตามที่ผู้ใหญ่บอกว่าเป็นการแก้เคล็ด ทว่าความจริง(ที่เขามาทราบภายหลัง)นั้นก็คือเพื่อเลี่ยงข้อกฎหมายว่าเขาไม่ได้มีประวัติเสื่อมเสีย (เนื่องจากเรื่องการทุจริตในสมัยของนายก อบต.คนก่อน ยังมีชื่อเขาไปเกี่ยวข้องอยู่ และยังไม่ได้สิ้นสุดการพิจารณาข้อกล่าวหานั้น) ซึ่งผลการเลือกตั้งเขาก็ได้รับชัยชนะและได้เป็นนายก อบต.
ประชาเปลี่ยน “ธรรมเนียม” ที่นายก อบต.คนก่อนเคยทำไว้ คือไม่มีการประชุม “สังสรรค์” ที่บ้านแบบแต่ก่อน รวมถึงที่เขาก็ไม่ทราบด้วยว่า นายก อบต.คนก่อนนั้นต้องไปหา “ผู้ใหญ่” อยู่เป็นประจำ (เพราะช่วงนั้น “นายใหญ่” ได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงเหลือแต่ ส.ส.และ ส.ว.ของจังหวัด ที่เรียกรวม ๆ ว่า “ผู้ใหญ่” ดังกล่าว) ทำให้เขาก็ไม่ได้สานต่อ “ธรรมเนียม” แบบนั้นอีก คณะผู้บริหารใน อบต.ของเขาก็กระซิบเตือนว่า ระวังจะมีคนไปเป่าหูว่าเขาเอาใจออกห่างนะ แล้วก็อาจจะมีภัยตามมา ตอนแรกเขาก็ไม่เชื่อ แต่พอทำงานไปสักระยะก็เริ่มเห็นปัญหา เช่น การก่อสร้างต่าง ๆ ในจังหวัดมีความล่าช้า จนถึงผู้รับเหมามีการทิ้งงาน แต่พอเขาไปบอกผู้ใหญ่ ปัญหาเหล่านั้นก็จบ หรือบางทีก็มีตำรวจและเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการต่าง ๆ มาก่อกวน (เหมือนกับว่ามี “ใคร” ส่งมา) แต่พอเขาไปหาผู้ใหญ่และเล่าเรื่องให้ฟัง คนพวกนั้นก็ไม่ได้มาหาเขาอีก แต่กระนั้นเขาก็พลาดจนได้ เมื่อบริหารมาได้ไม่ถึงปี เขาก็ได้การขอร้องจาก “ผู้ใหญ่” คนหนึ่ง ให้ช่วยรับลูกของหัวคะแนนคนหนึ่งเข้าทำงานใน อบต.ที่เขาเป็นนายกอยู่ แต่ฝ่ายการเจ้าหน้าที่ของ อบต.บอกว่าคุณสมบัติไม่ตรง เขาก็ตอบปฏิเสธผู้ใหญ่นั้นไป ต่อมาในการประชุมจัดทำงบประมาณประจำปี อบต.ของเขาก็ถูกตัดงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงที่มีเรื่องร้องเรียนสอบสวนเข้ามาอีก คราวนี้เขาถูกตั้งข้อหาว่าทุจริตเข้าเต็มตัว เขาต้องออกจากตำแหน่งและต่อสู้คดีความนั้นอยู่เป็นเวลานาน จนมาทราบภายหลังว่า นายก อบต.คนก่อนก็โดนเหมือนกับเขานี้ เพียงแต่นายก อบต.คนก่อนเขานั้นก็พยายาม “ตามใจผู้ใหญ่” อย่างเต็มที่แล้ว กระนั้นเมื่อไม่เป็นอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ ก็ต้องถูก “กำจัด” ออกไป ทำนองเดียวกันกับเรื่องที่เขาเผชิญอยู่นี้
เขาต่อสู้คดีอย่างเหน็ดเหนื่อยอยู่ร่วมปี ท้ายสุดคณะกรรมการบอกว่า “หลักฐานอ่อน” (ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเป็นหลักฐานเท็จที่ถูกสร้างขึ้น จึงมีช่องโหว่และไม่น่าเชื่อถือ) เขาย้ายบ้านมาอยู่ที่กรุงเทพฯตามคำแนะนำของภรรยา เพื่อที่จะได้ไม่ถูกรังควานจากกลุ่มอิทธิพลในจังหวัดบ้านเกิดของเขา รวมถึงชื่อภริษศรก็ต้องเปลี่ยนเป็น “ยุทธวราช” เพื่อแก้เคล็ดอีกเช่นกัน แต่คราวนี้เป็นไปอย่างที่ภรรยาของเขาแนะนำ โดยเขาเองก็รวบรวมลูกน้องเก่า 2 - 3 คน กับเด็กหนุ่มสาวในตำบลหมู่บ้านของเขาอีกจำนวนหนึ่ง ที่อยากมีรายได้ที่ดี ซึ่งเขาก็บอกกับหนุ่มสาวเหล่านั้นว่า ถ้าไม่รังเกียจอาชีพกรรมกรก่อสร้างแล้ว ทุกคนก็จะมีงานและมีเงินมาก ๆ โดยเขาไปร่วมรับเหมาช่วงต่อจากบริษัทขายวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างที่รับงานมาจากลูกค้าที่มาซื้อสินค้าเครื่องก่อสร้างต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตอยู่รอบ ๆ ชานเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งก็ทำให้เขามีงานอยู่ตลอดเวลา และเขาก็มีความสุขมากที่ไม่ต้องอยู่ใต้อิทธิพลของใคร ๆ
ปีที่แล้วที่เขาฉลองอายุครบ 5 รอบ เขาได้ไปเปลี่ยนชื่อเป็น “สุประชา” เพราะชื่อยุทธวราชดูจะ “เว่อร์” เกินไป ที่สำคัญเขาอยากให้มีอะไรมาปกป้องชีวิตของเขาให้พ้นจากภัยชั่วทั้งปวง คำว่า “สุ” ที่แปลว่า “ดี” นี้น่าจะเหมาะสมที่สุด
กระนั้นเขาก็ระลึกอยู่เสมอว่า “ความชั่ว” นั้นมันมีอยู่รอบตัว มันไม่ได้หนีไปไหน แต่มันเข้ามาหาเราซึ่ง ๆ หน้าได้ทุกลมหายใจ !