ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“คนเราทุกคน...จักต้องมีห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต..เป็นห้วงขณะสำคัญที่จะได้พบกับบทเรียนอันล้ำค่า...อันเนื่องมาแต่ประสบการณ์ของการกระทำและชะตากรรม..ทุกๆชีวิตย่อมมีบทเริ่มต้นที่ทั้งน่าจดจำยกย่อง..และน่าสะอิดสะเอียนที่พร้อมจะลืมเลือน..นั่นคือวิถีอันรุกล้นต่อชีวิตที่ยากจะควบคุม..มันคือความน่าสะพรึงกลัวใช่หรือไม่?..

ความไม่รู้แจ้ง..ทำให้เราต้องคลางแคลงใจ..และไม่แน่ใจต่อตนเอง..นั่นคือสาเหตุสำคัญที่เราจำเป็นต้องเตรียมตัวเพื่อที่จะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติของชีวิต..อันอาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ยามใดก็ยามหนึ่ง..

และนี่คือ..นัยสำคัญต่อการหยั่งเห็น “ห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต”..ว่ามันสมควรที่จะอยู่ตรงไหน..ในหัวใจแห่งการเป็นชีวิตของเรา..!”

นี่คือ..ภาพรวมทางความคิดที่ก่อผัสสะขึ้นจากหนังสืออันล้ำค่าของหนังสือแห่งยุคสมัยเล่มหนึ่งซึ่งควรค่าต่อความใคร่ครวญ.. “ห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอยู่ตรงนี้” (WITH THE END IN MIND) ผลงานแห่งการรังสรรค์ความคิดอันน่าตระหนักรู้ของคุณหมอ “แคทริน แมนนิกซ์” (KATHRYN MANNIX)..ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแลแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างประคับประคอง (Palliative care) ให้แก่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้าน..โดยมุ่งหวังตั้งใจว่า..จะให้ผู้ป่วยและญาติมีสภาวะชีวิตที่ดี..ในห้วงเวลาวิกฤต ที่ชีวิตของผู้ป่วยย่างใกล้เข้าสู่ความตาย..ด้วยการอธิบายความถึง..วิถีภาวะแห่งความตายอย่างไม่อ้อมค้อม..แต่เต็มไปด้วยความอบอุ่น เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจอันลึกซึ้ง ต่อการล่วงสู่การหายใจ ในห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิตด้วยความหมายที่มีค่า..และสุขสงบ..

หนังสือเล่มนี้..เต็มไปด้วยถ้อยคำอันอ่อนโยนและลึกซึ้ง..เป็นความคาดหวังอันงามงดต่อ “ชีวิตและการจากไป”..ผ่านความจริงที่ไม่โศกเศร้าจนเกินไปนัก..ความจริงที่คอยเตือนสติต่อตัวเราทุกคนได้ว่า..การเดินทางไปสู่จุดสุดท้ายของชีวิตนั้น..สามารถเตรียมตัวและเตรียมการณ์ได้...มันคือเกียรติและศักดิ์ศรีของชีวิตอันรื่นรมย์และงดงามแท้จริง..

“เปลี่ยนความกลัวเป็นความเข้าใจ..ในช่วงเวลาก่อนที่เราจะตาย..แล้วเราจะตระหนักรู้ในความจริงที่ไม่ได้มาจากการปรุงแต่งแห่งจินตนาการ..มันจะทำให้เราทุกคนขลาดกลัวและหวาดหวั่นต่อความตายน้อยลง” เหตุการณ์ชีวิตอันเป็นข้อเปรียบเทียบสำคัญ..ต่อการกระทำของ “คุณหมอแคทริน”..ย้อนหลังไปเมื่อร่วมสองร้อยปีที่แล้ว/การกระทำและปฏิบัติการครั้งสำคัญของ..”ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล “ในฐานะนางพยาบาล ที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อ..ดูแลรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะในเวลาค่ำคืน ที่พยาบาล ผู้รักษาคนอื่นๆได้กลับไปพักผ่อนกันแล้ว..แต่เธอก็ยังคงถือตะเกียงเดินไปตามเตียงผู้ป่วย..อย่างใส่ใจ..ผู้ป่วยที่นอนป่วยอยู่ตรงนั้น..ล้วนอาการหนัก พิการ ใกล้ตาย และ ไร้ความหวัง..แต่จากการทุ่มเทต่อการดูแลของเธอ ด้วยการปลอบใจ และ ทำให้พวกเขาเหล่านั้น รู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย และมีความหวังขึ้น ทั้งๆที่เวลาแห่งชีวิตของพวกเขา..จะย่างเข้าใกล้วาระสุดท้ายแล้วก็ตาม..

“..แสงสว่างในมือของเธอ..ได้ช่วยประคับประคองภาวะแห่งจิตใจของทหารเหล่านั้น..ภาพแห่งความตายที่สว่าง สงบ และอบอุ่น..คือ..สิ่งที่หนังสือเล่มนี้มุ่งแสดง และตั้งใจ..นำเสนอออกมาอย่างจริงจัง..เพื่อให้ผู้อ่านทุกคน สามารถล่วงรู้และสัมผัสเข้าไปได้ถึงจิตกรุณาต่อกันและกันอันล้ำลึกนี้..!”

ว่ากันว่า..การเฝ้าจับตาสังเกตความตาย..เป็นปัญญาญาณที่ทรงภูมิ..ที่มีมาและเป็นมาในประวัติศาสตร์ แต่เพิ่งสูญหายและลับหายไปในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ นับเนื่องแต่อดีต ..ความตายถือเป็นเครื่องธรรมดา..ถือเป็นความปกติของชีวิต..

ครั้นเมื่อวิชาการด้านการแพทย์พัฒนาและรุ่งเรืองขึ้น..มันก็ได้กลายเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดล้ำลึกไปอย่างไม่น่าเชื่อ ...เราต้องสูญเสียความคุ้นเคยกับการเตรียมตัวตาย..สูญเสียนัยแห่งการเตรียมการเพื่อละเข้าสู่..ช่วงเวลาท้ายสุดของชีวิต..ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่มนุษย์คุ้นชินมาโดยตลอด

เหตุนี้..เราจึงจำเป็นที่จะต้อง “เปลี่ยนความกลัว..ให้เป็นความเข้าใจ..” วิถีแห่งสัจจะของมนุษย์นั้น..ย้ำบอกกับเราว่า.. “ไม่ว่าชีวิตที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร..เราก็ยังมีโอกาสที่จะเขียนฉากจบของความตายอันอบอุ่น..และจากไปอย่างมีความหมายได้”ข้อเน้นย้ำตรงส่วนนี้..ขยายความต่อข้อประจักษ์ในชีวิตของเราได้ว่า... “มีเพียงสองวันเท่านั้นที่เราใช้เวลาไม่ครบ 24 ชั่วโมง..นั่นคือ..วันที่เราลืมตาดูโลก..และ วันที่เราต้องลาจากโลกนี้ไป”

แม้ห้วงเวลาที่เรากำลังกล่าวถึงนี้..ชีวิตจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย..แต่มันก็เป็นสัญญะแห่งหมุดหมายของการเปิดฉากและปิดฉาก..สำหรับความเป็นชีวิตหนึ่ง..ที่ล้วนผิดแผกแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล..! มีข้อคิดหลากหลาย..ที่หนังสือเล่มนี้ปลุกตื่นชีวิตของเรา..เพือความรื่นรมย์และเข้าใจอันนำไปสู่การปฏิบัติ..ที่ทรงคุณค่าสุดท้ายของชีวิต..อาทิ..

*แม้แต่ขณะที่ตกอยู่ในช่วงใกล้ตาย..ชีวิตก็สามารถค้นพบสิ่งใหม่ พบเจอสิ่งใหม่ มีเพื่อนใหม่..กระทั่งสามารถเรียนรู้และเติบโตใหม่ได้เช่นกัน../..

*บางทีการรักษาเพื่อช่วยชีวิต..อาจจะเป็นการแทรกแซง.. ที่ยื้อเวลาสำคัญแห่งความตายออกไป

*การเรียนรู้สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ใกล้กับความตาย..จะทำให้เรากลัวความตายน้อยลง..

*จิตวิญญาณของมนุษย์นั้นแข็งแกร่งมากกว่าสิ่งที่เราคิด..มนุษย์จึงมีความสามารถในการปรับตัว และ ปรับขีดจำกัดของตัวเอง..

*การสามารถคาดเดาความตายได้ล่วงหน้า..จะทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถทำใจได้ง่ายกว่า การสูญเสียแบบกระทันหัน

*การสูญเสียคนที่เรารัก จะทำให้เราได้ไปสู่จุดสมดุลใหม่ เราจะไม่มีวันหายดี เพราะความสูญเสียไม่ใช่โรค แต่เราจะสามารถปรับตัว ปรับใจ และเดินต่อไปข้างหน้าได้..

* ในช่วงท้ายๆของการมีชีวิตอยู่..มักจะมีรูปแบบค่อนข้างสม่ำเสมอ นั่นคือความรู้สึกตัวจะค่อยๆลดน้อยลงไปเรื่อยๆ..ดังนั้น..ส่วนใหญ่แล้วเราจึงสามารถวางแผนชีวิตในช่วงท้ายสุดนี้ได้..ตามสมควร..

*ในบางประเทศ การทำการุณยฆาต คือการเลือกกระทำผ่านความเห็นชอบของคุณหมอ ต่อการจบชีวิตลง เพื่อลดการทรมาน..ถือเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายแต่ก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้ให้รอบคอบ..เพราะบางทีทางเลือกนี้อาจเป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดันต่อผู้ป่วย..

*การพูดคุยเรื่องความตายกับเด็กๆ อาจเป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่สบายใจนัก ..แต่ก็มีประโยชน์ เพราะเด็กๆจะได้เรียนรู้ถึงธรรมชาติอันแท้จริงที่ไม่อาจหนีพ้นของชีวิต

*ความกล้าหาญ..ไม่ได้หมายความถึงว่าต้องทำอะไรที่กล้าหาญเสมอไป  ..แต่มันหมายถึงการใช้ชีวิตในช่วงที่ร่างกายถดถอยลง..ที่ถือกันว่าเป็นความเข้มแข็งอย่างหนึ่ง..

*การเริ่มต้นสนทนาในเรื่องที่ไม่สบายใจ..บางครั้งก็จะทำให้ใครบางคนรู้สึกได้ว่า..ตัวของเขาไม่ได้ตกอยู่ในความมืดมนโดยลำพัง..

*และ..

*สุดท้ายรูปลักษณ์ความร่วงโรยไปสู่ความตาย อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปมากมาย..บางครั้งก็ค่อยๆหมดพลังและเป็นไปทีละน้อย..แต่สำหรับบางคนก็กลับลุกโชนด้วยแรงไฟแห่งการมีชีวิตอยู่ เป็นวาระสุดท้าย..อย่างไม่น่าเชื่อ..

ทั้งหมด..คือปรากฏการณ์แห่ง “ชีวิตและการจากไป” ที่สื่อความหมายของสัจจะต่อผู้อ่านเพื่อการหยั่งรู้..อย่างเปิดเปลือยและตรงไปตรงมา..มันคือองค์รวมแห่งข้อประจักษ์ในชีวิต..ที่คุณหมอ “แคทริน” ได้ทดลองความจริง ปฏิบัติ และ เฝ้าดูความตายที่เกิดขึ้นตรงหน้าดั่งสหายผู้ชิดใกล้..ลมหายใจแห่งการปลอบประโลม และดูแลรักษาต่อคนไข้ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของพวกเขา..คือเจตจำนงอันยิ่งใหญ่ในการส่งผ่านชีวิตสู่โลกใหม่อย่างศานติ..การกระทำอันทรงคุณค่า..คือแบบเรียนในทางจิตวิญญาณ  ที่ชาวโลกต้องตระหนักต่อการเรียนรู้และรับรู้ร่วมกันอย่างถึงที่สุด..

นี่คือ..หนังสือของคุณค่าที่ก้าวล้ำต่อภาวะสำนึกอันยากจะสลัดหลุดเป็น..สัจจะที่อยู่เหนือสัจจะซึ่งคอยทวงถามถึงมโนทัศน์อันสมควรต่อการมีชีวิตอยู่ที่ไม่เสื่อมค่า..แม้เมื่อใด “วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ” นักแปล นักเขียน และ บรรณาธิการแห่งยุคสมัย..ถอดความและแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างหยั่งลึกและพิถีพิถัน..ทุกถ้อยคำ..สื่อใจความสำคัญของต้นฉบับออกมาอย่างลุ่มลึกและมีคุณค่ายิ่ง..

...วาระสำคัญของชีวิต..ย่อมเป็นสิ่งที่สร้างความหมายต่อการดำรงชีวิตอยู่..ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก..มันล้วนเป็นกลไกที่พร้อมจะบดทับรอยร่างของความเป็นชีวิต..สู่ภาวะแห่งความเป็นนิรันดร์..อันไกลโพ้น..! “เข้าใจในชีวิตที่ผ่านมา ..เมื่อเวลาจากไปก็จากไปอย่างมีความหมาย”