จนท.รุดตรวจดอยสะโง้ หลังกำนัน ชี้กลุ่มทุนรุกป่านับ 1,000 ไร่ สร้างรีสอร์ท-ทดแหล่งน้ำไปใช้เอง จ่อคัดแยกดำเนินคดีคนรุก

วันที่ 16 พ.ค.2566 ที่หมู่บ้านดอยสะโง้ หมู่ 7 ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นายเศกสันต์ กองศรี กำนัน ต.ศรีดอนมูล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ และชาวบ้านดอยสะโง้ ร่วมตรวจแนวเขตแดนและพิกัดของพื้นที่ปาไม้และที่ดินที่มีผู้เข้าไปครอบครอง หลังจากชาวบ้านดอยสะโง้เคยร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานว่ามีการบุกรุกป่า และนายเศกสันต์ได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยัง อ.เชียงแสน เมื่อเดือน มี.ค.2567

โดยชาวบ้าน ระบุว่า เดิมดอยสะโง้ เคยมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้และแหล่งน้ำ รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 709 เมตร เป็นจุดชมวิว 3 แผ่นดิน คือ สามเหลี่ยมทองคำ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา และเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ที่เป็นแหล่งปลูกพืชต่างๆ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า แต่ปรากฎว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาได้มีกลุ่มทุนบุกรุกตัดต้นไม้และปรับถางที่ดิน มีการปลูกส้มหลายร้อยไร่และสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น รีสอร์ท ที่พัก ฯลฯ เพื่อหาผลประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำบนดอยสะโง้แห้ง หรือถูกกลุ่มทุนผันน้ำนำไปใช้ส่วนตัว ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนและยังมีปัญหาขยะเพิ่มขึ้นมาอีก 

ดังนั้นในปี 2562 ชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่สามารถหยุดการบุกรุกป่าทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติและสวนป่าแม่มะ-สบรวก ที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานป่าไม้ทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว และมีแนวโน้มจะบุกรุกเพิ่มขึ้น 

นายเศกสันต์ กล่าวว่า ในอดีตดอยสะโง้เป็นแหล่งน้ำโดยเฉพาะลำห้วยม่วงที่ชาว ต.ศรีดอนมูล ได้ใช้ประโยชน์ แต่ถูกกลุ่มนายทุนที่มีเงินและอิทธิพลเข้าไปบุกรุก กระทั่งปี 2567 ความแห้งแล้งรุนแรงมากเพราะป่าไม้ถูกทำลายไปนับ 1,000 ไร่ ส่วนลำห้วยก็ถูกนายทุนกั้นน้ำเอาไว้ใช้ส่วนตัว ตนจึงได้เป็นตัวแทนชาวบ้านทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดังนั้นในครั้งนี้ตนหวังว่าหน่วยงานต่างๆ จะแก้ไขปัญหาให้สำเร็จเพราะ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการตรวจสอบหลายครั้งแต่ก็ไม่มีการแก้ไขปัญหา 

สำหรับครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เริ่มสำรวจว่าจุดใดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าอุทยาน หรือพื้นที่การเกษตรแล้ว จากนั้นจะบูรณาการจำแนกพื้นที่หากพบมีการบุกรุกในเขตรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็จะมีการดำเนินคดีจนครบทั้ง 1,000 ไร่ต่อไป.