นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากคลองเตยว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนแต่งตั้งคณะทำงานฯ โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เป็นประธาน และยังมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น เพื่อดำเนินการศึกษาตามข้อสั่งการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคาดว่าคณะทำงานฯจะมีการประชุมครั้งแรกภายในเดือนพ.ค.นี้ โดยที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีการประชุมนอกรอบแล้ว 2 ครั้ง โดยหลักการจะนำผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพเดิม มาศึกษาทบทวนแผนเดิมในทุกมิติ ทั้งท่าเรือขนส่งสินค้า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การดูแลเรื่องชุมชมและที่อยู่อาศัยแบบใหม่ ซึ่งแผนเดิมมีการศึกษาเป็น Smart Community จะนำมาพิจารณาทั้งหมด ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาทบทวนประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะเร่งผลักดันให้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้เมื่อทบทวนแผนแล้วจะมีความชัดเจนของผังท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วน รวมถึงประชาชนที่จะมีการโยกย้าย ประมาณ 13,000 ครัวเรือน ดังนั้นจึงมีกระทรวงพม. อยู่ในคณะทำงานชุดนี้ ส่วนทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีความเห็นทั้งการดูแลตลาดคลองเตย และอยากได้สวนสาธารณะ รวมไปถึงอยากให้ย้ายคลังน้ำมันบางจากออกจากพื้นที่ เป็นต้
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ มีประมาณ 2,353 ไร่ รัฐบาลต้องการให้การใช้พื้นที่ในเมืองมีความคุ้มค่ามากขึ้น กทท.พร้อมทำงานร่วมมือกับคณะกรรมการฯในการพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายนายกฯเพื่อ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งท่าเรือกรุงเทพในปัจจุบัน มีพื้นที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ก่อนหน้านี้มีการศึกษาพัฒนา เป็นท่าเรือสีเขียว (Greem Port) ภายใต้แนวคิดโครงการ SMART PORT ยกระดับสู่ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร
"การย้ายตามนโยบายนายกฯนั้นจะเป็นอย่างไร คณะทำงานที่มี รมว.คมนาคมเป็นประธานนั้น จะศึกษาก่อนว่าจะมีการย้ายแบบไหน อาจจะขยับภายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ แต่อาจจะปรับลดขนาด และปรับเพิ่มการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เน้นผังเมืองให้การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้มากขึ้น และเพิ่มมูลค่าของพื้นที่"