กรมการจัดหางานแจงแนวทางพิสูจน์สัญชาติ และขอรับเอกสารประจำตัว แรงงาน 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา ย้ำดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง สถานประกอบการที่มีแรงงานสัญชาติเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เร่งดำเนินการจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง เพื่อนำเอกสารประจำตัวดังกล่าวไปขอรับการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล และขอรับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 

สำหรับการจัดทำเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของแรงงานเมียนมา (เอกสารรับรองบุคคล Certificate of ldentity : CI) สามารถดำเนินการได้ ณ “ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566” ซึ่งตั้งอยู่ 8 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ และจังหวัดสงขลา โดยทำตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  ก่อนการเข้าศูนย์ฯ 
จองคิวผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (ที่ 7 eleven) - เลือกศูนย์บริการฯ ที่สะดวกเข้ารับบริการ นัดหมาย วัน เวลา และชำระค่าธรรมเนียม

ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินการ ณ ศูนย์ฯ #เอกสารครบจบในวันเดียว
1.เดินทางไปยังศูนย์ฯ ตามวัน เวลา สถานที่ ที่ได้นัดหมาย เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานจะตรวจสอบหลักฐานแรงงาน ได้แก่ สำเนาบัตรหลักฐานการได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่มีเลขประจำตัวและเลขที่ใบอนุญาตทำงาน หลักฐานการประกันสุขภาพ และรูปถ่าย 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป 
2.เจ้าหน้าที่ทางการเมียนมา จะตรวจสอบหลักฐาน สัมภาษณ์ พร้อมจัดเก็บข้อมูล ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) และออกบัตรประจำตัวแรงงาน (OWIC)
3.เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จัดเก็บอัตลักษณ์ ตรวจลงตราให้อยู่ชั่วคราว ทำการกรอกแบบฟอร์ม ตม.6 และ ตม.87 พร้อมแนบรูปถ่าย โดยต้องมีเอกสารรับรองบุคคล (CI) สำเนาบัตรหลักฐานการได้รับอนุญาตทำงาน สำเนาเอกสารนายจ้าง และหลักฐานการจัดเก็บอัตลักษณ์แล้ว (ถ้ามี) พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา 500 บาท 
4.เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ให้คำปรึกษา แนะนำ เกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมปรับปรุงข้อมูลให้แก่แรงงานเมียนมา

ทั้งนี้ในส่วนแรงงานสัญชาติลาว ให้แรงงานติดต่อสถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทยเพื่อขอรับเอกสารเดินทางชั่วคราว (Laissez - Passer) ซึ่งเป็นเอกสารใช้สำหรับเดินทางกลับไปทำหนังสือเดินทางที่ประเทศลาว และหลังจากได้รับหนังสือแล้ว เมื่อเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย แสดงเอกสารเดินทางชั่วคราว (Laissez - Passer) กับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จะได้รับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

ขณะที่แรงงานสัญชาติกัมพูชา มีแนวทางเดียวกันกับประเทศลาว โดยเพิ่มเติมการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ www.cambodia-doe.com ลงทะเบียนเข้าใช้งาน แนบหลักฐานของแรงงาน อาทิ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้านหรือหนังสือรับรอง รูปถ่าย เอกสารเดินทาง (TD) หรือหนังสือเดินทางฉบับเดิม (ถ้ามี) ซึ่งทางการกัมพูชาจะตรวจสอบข้อมูลของแรงงานผ่านระบบออนไลน์ และเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่าเป็นคนกัมพูชา เจ้าหน้าที่ของทางการกัมพูชาจะติดต่อกลับไปตามข้อมูลที่ได้ลงทะเบียนเข้าระบบไว้

“ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีนายจ้าง จ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีความผิดทั้งนายจ้างและคนต่างด้าว โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ในส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานพื้นที่ 1 -10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ  สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 

#กรมการจัดหางาน #พิสูจน์สัญชาติ #แรงงาน #ข่าววันนี้