บลจ.เอ็มเอฟซี เตรียมเปิดขายกองทุน "MPCREDIT-UI" ลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก โอกาสรับผลตอบแทน ท่ามกลางภาวะตลาดผันผวนจาก Private Credit ในสินเชื่อที่มีหลักประกันคุณภาพดี เน้นปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่คุณภาพดีในสหรัฐฯ ลงทุนผ่านกองทุน Apollo Debt Solutions เสนอขาย IPO ระหว่าง 17 - 24 พ.ค. 67
นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการกองทุนคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า บลจ.เอ็มเอฟซี มองหาโอกาสในการลงทุนท่ามกลางภาวะตลาดผันผวน ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก Private Credit ซึ่งเป็นการให้กู้ยืมโดยตรงให้กับบริษัทเอกชนและกองทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยส่งผ่านไปยังนักลงทุน พร้อมโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอและช่วยลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนโดยรวมให้แก่นักลงทุน
โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จึงเปิดขายกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ไพรเวท เครดิต โซลูชั่น ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือกองทุน "MPCREDIT-UI" มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund)คือ กองทุน Apollo Debt Solutions BDC iCapital Offshore Access Fund SPC (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน Class C-I-Dis ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งกองทุนหลักจดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายของหมู่เกาะเคย์แมน (the Cayman Islands) และบริหารโดย iCapital Advisors, LLC
สำหรับกองทุนหลักจะนําทรัพย์สินเกือบทั้งหมดไปลงทุนในกองทุน Apollo Debt Solutions BDC หรือ ADS (กองทุนอ้างอิง) ชนิดหน่วยลงทุน Class I ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกองทุนอ้างอิงมีสถานะเป็นกองทรัสต์ตามกฎหมายของรัฐ Delaware ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีลักษณะเป็น Business Development Company (“BDC”) ภายใต้กฎหมาย Investment Company Act of 1940 โดยกองทุนอ้างอิงเน้นลงทุนใน Private Credit โดยการปล่อยกู้โดยตรง (Directly Originated Assets) ทั้งในรูปแบบเงินกู้และตราสารหนี้อื่นๆ โดยปล่อยกู้ให้ กับผู้กู้เอกชนขนาดใหญ่นอกตลาดที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทที่มี EBITDA มากกว่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะปล่อยกู้ให้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกาไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของทรัพย์สินทั้งหมดและอาจปล่อยกู้ให้บริษัท ในยุโรปและประเทศอื่นๆ ไม่เกินร้อยละ 30 ของทรัพย์สินทั้งหมด
นายธนโชติ กล่าวอีกว่า Private Credit ขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตการเงินโลก (GFC) เมื่อธนาคารกลางปรับเกณฑ์และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้สูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีมาตรฐานการปล่อยกู้ที่เข้มงวดขึ้นและลดกิจกรรมการปล่อยกู้ลง จึงเป็นการสร้างโอกาสสําหรับผู้ให้กู้ที่ไม่ใช่ธนาคารเข้ามาปล่อย กู้แทน โดยมีความยืดหยุ่น ความเร็วในการดําเนินการและการค้ำประกันเงินทุน อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของ Private Credit เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate + Spread) และมีหลักประกัน รวมทั้งตั้งเงื่อนไขเฉพาะเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กองทุน จึงมองเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง (Risk-Return) ที่น่าสนใจ และมี Income สม่ำเสมอ Average Yield 12%-14% (Floating Rate + Spread 575-625 bps)
ขณะเดียวกันจากการบริหารจัดการของ Apollo ซึ่งเป็นผู้จัดการการลงทุนระดับโลก เป็นผู้นำด้านการลงทุนใน Alternative Credit Business เน้นกระบวนการคัดเลือก ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เน้นบริษัทที่มีคุณภาพดีและกระจายการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยืดหยุ่นต่อภาวะถดถอย ส่งผลให้การลงทุนมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้เฉลี่ยต่ำที่ 0.1% ต่อปี และมีอัตราการสูญเสียน้อยกว่า 0.04% ต่อปี(Jan 2009 - Sep 2023) และ Recovery Rate สูง (64%) เมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม
"จุดเด่นของกองทุน MPCREDIT-UI คือ โอกาสในการรับผลตอบแทนสูง จากการลงทุนใน Private Credit ที่เน้นการให้กู้ยืมแก่บริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ โดยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ลำดับต้นๆ มีกระบวนการวิเคราะห์ผู้กู้ที่เข้มข้นมุ่งเน้นปล่อยกู้ในธุรกิจที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยวิเคราะห์เครดิต กระแสเงินสดของบริษัท หลักประกัน กำหนดเงื่อนไขของสัญญา (Covenants) ที่สามารถทําให้มีผลการดําเนินงาน ที่ดีตลอดวัฏจักร อีกทั้ง ADS ยังได้รับการจัดอันดับเครดิต Investment Grade BBB- โดย S&P, และ Baa3 โดย Moody’s" นายธนโชติกล่าว
โดยปัจจุบันกองทุน ADS ซึ่งเป็นกองทุนอ้างอิง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อยู่ที่ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯและปล่อยกู้โดยตรงบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 208 แห่ง (EBITDA เฉลี่ย 246 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) ณ 29 Feb 2024 มีสัดส่วนการลงทุนในสหรัฐฯ 82.3%, ยุโรป 10.3%, สหราชอาณาจักร 3%, ออสเตรเลีย 2.7% แคนาดา 0.8% สำหรับหุ้นที่ลงทุน อาทิ BDO USA ซึ่งเป็นเครือข่ายบริษัทที่ปรึกษาทางบัญชีระดับโลกและแพลตฟอร์ม, Advarra ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการวิจัยทางคลินิกชั้นนำสำหรับสถานที่วิจัยทางคลินิกและผู้สนับสนุน และ VFS Global บริษัทที่ช่วยเหลือในการยื่นคำร้องขอวีซ่าและออกหนังสือเดินทางให้กับรัฐบาลทั่วโลก เป็นต้น
สำหรับกองทุน MPCREDIT-UI เปิดขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 17 - 24 พฤษภาคม 2567 จองซื้อขั้นต่ำครั้งแรก 500,000 บาท และกองทุนนี้มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน มีความเสี่ยงระดับ 8+ จึงเสนอขายให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UI) เท่านั้น กองทุนไม่กำหนดอายุโครงการ โดยจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto Redemption) ไม่เกินปีละ 12 ครั้ง
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยง อัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก กองทุนรวมที่เสนอขายสําหรับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น กองทุนรวมมีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อนกองทุนนี้ไม่ถูกจํากัดความเสี่ยงด้านการลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป และลงทุนกระจุกตัวในตราสารที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่อง ดังนั้น หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าวผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจํานวนมาก จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับผลขาดทุนระดับสูงได้เท่านั้น