วันที่ 16 พ.ค.67 นายสำรวม บุญล้น ผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชัยนาท (ผอ.กกต.ชัยนาท ) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การเตรียมความพร้อมการรับสมัครเลือก สมาชิกวุฒิสภาของจังหวัดชัยนาท ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า วันที่ 20- 24 พฤษภาคม 2567 นายอำเภอทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดชัยนาท ได้ดำเนินการแต่งตั้งผู้อำนวยการเลือก,คณะกรรมการเลือกในระดับอำเภอ จำนวน 7 คน โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการอำเภอ จำนวน 3 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน, กรรมการและเลขานุการ จำนวน 1 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดชัยนาท ได้ดำเนินการจัดอบรมให้กับผู้อำนวยการเลือก,คณะกรรมการเลือกในระดับอำเภอ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ กระบวนการเปิดรับสมัคร, การตรวจสอบคุณสมบัติ และกระบวนการเลือกระดับอำเภอ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2567  สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ จะมีที่มาแตกต่างกันออกไป จำนวน 20 กลุ่ม มาจากการ “เลือกกันเอง” ในบรรดาผู้สมัคร การเลือกแบ่งเป็นระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ ซึ่งที่มา สว. จากการเลือกกันเอง ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่กำหนดวิธีการได้ สว. จากการเลือกกันเอง การกำหนดที่มา สว. ให้มาจากการเลือกกันเอง หมายความว่า ประชาชนทั่วไปจะไม่มีสิทธิเลือก สว. ที่มาทำหน้าที่พิจารณากฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชน ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เคาะเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย และจ่ายค่าธรรมเนียมการสมัคร สว. 2,500 บาท จึงจะมีสิทธิเลือก สว.

สำหรับคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่ หรือยอมตนอยู่ภายใต้ของพรรคการเมืองใดๆ โดยมีคุณสมบัติดังนี้ สัญชาติไทยโดยการเกิด, อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก,มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี ยกเว้นผู้สมัครในกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธ์ุ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น โดยกำหนดอำเภอที่ผู้สมัครจะต้องสมัคร ไว้ดังนี้ อำเภอที่เกิด,อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร,อำเภอที่ทำงานอยู่เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัคร,อำเภอที่เคยทำงาน เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี,อำเภอที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี,อำเภอที่สถานศึกษาที่เคยศึกษามาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษาตั้งอยู่ ซึ่งการเลือกอำเภอที่จะไปสมัคร จะมีผลในขั้นตอนการเลือก สว. ในระดับอำเภอ ทั้งนี้ ตามกฎหมาย จะไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อระหว่างรับสมัคร แต่เมื่อสมัครเสร็จสิ้น ทาง กกต.จึงจะสามารถเปิดเผยได้ ทางแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต

นายสำรวม บุญล้น ผอ.กกต.ชัยนาท กล่าวย้ำว่า ผู้ที่สนใจสมัครเลือก สว.สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและขอแบบใบสมัคร ได้ที่ กกต.จังหวัดชัยนาท ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดชัยนาท หรือ ติดต่อเจ้าหน้าที่ทะเบียนอำเภอทุกอำเภอ ส่วนขั้นตอนและเอกสารหลักฐานสมัครรับเลือกตั้ง สว. 2567 ที่ใช้ ได้แก่ แบบใบสมัคร (แบบ สว.2) แบบข้อมูลแนะนำตัว (แบบ สว.3) แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (ต้องมีพยานรับรองอย่างน้อยหนึ่งคน พร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้รับรอง) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  สำเนาทะเบียนบ้าน  รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 8.5 x 13.5 เซนติเมตร จำนวน 2 รูป ใบรับรองแพทย์ หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ยืนยันว่าเกิดในอำเภอที่สมัคร หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือเคยศึกษาหรือเคยทำงานในอำเภอที่สมัครรับเลือกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี หลักฐานอื่น เช่น หลักฐานการลาออกจากข้าราชการ หลักฐานการเปลี่ยนเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล หลักฐานแสดงตนว่าไม่มีลักษณะต้องห้าม ค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวน 2,500 บาท (เงินสด หรือตั๋วแลกเงิน หรือแคชเชียร์เช็ค แล้วแต่กรณี) สำหรับผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็น สว. ต้องยื่นเอกสารใบสมัครและหลักฐานประกอบการสมัครด้วยตนเอง ณ สถานที่สมัครที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับอำเภอกำหนดไว้ เมื่อผู้สมัครได้ยื่นสมัครรับเลือกแล้ว ผู้สมัครจะได้รับใบสมัครรับเลือกเป็น สว. (สว.อ.10) ไว้เป็นหลักฐาน