วันที่ 16 พ.ค.67 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...

เด็กนักเรียนที่มาปรึกษาผม หรือมาฝึกงาน หลายปีมาแล้วมาจากโรงเรียนดังแถวศาลายา 3 คน เมื่อได้คุยกับผม และฝึกงาน ผลปรากฏว่า เข้าเรียนแพทย์อยู่ชั้น 3 คนและประสบความสำเร็จดีมาก

เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ถ้ามาปรึกษาผมเรื่องเรียนแพทย์ ผมจะให้คำแนะนำแล้วตัดสินใจเอง ซึ่งพ่อแม่พึงพอใจมาก หรือแม้กระทั่งนักเรียนที่เรียนไปแล้วครึ่งทางเกิดไม่ชอบ มาปรึกษาก็จะให้คำแนะนำให้กำลังใจ เพราะตัดสินเข้ามาแล้ว เมื่อจบแล้วจะทำอาชีพอะไรตามที่ชอบก็ทำได้ดี

ผมจะบอกว่า วิชาแพทย์เป็นวิชาฤาษี ถึงไปอยู่ที่ไหน ก็ไม่อด อยู่กลางป่าก็มีลิงเอากล้วยเอาน้ำผึ้งมาให้

ถ้าอยากร่ำรวย ก็เรียนไปทำธุรกิจ การค้า จะร่ำรวยกว่ามนุษย์เงินเดือน

มีบุคคลอยู่ 2 อาชีพ ที่ได้รับประทานของดีที่สุด คือใคร พระและหมอนั่นเอง จะทำบุญก็เลือกแต่ของดี จะหาอะไรไปให้หมอ ก็เลือกแต่ของดีๆ

อาชีพแพทย์ เมื่อจบแล้ว เป็นหมอ ไม่ทำอาชีพอะไรก็ได้ ทำได้ดีด้วย เช่น

ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อเสียงโด่งดังมีมากมาย แต่นักวิทยาศาสตร์ เป็นหมอไม่ได้

ไปเป็นครู ก็ได้ แต่ครูเป็นหมอไม่ได้

ไปเป็นผู้บริหารก็ได้ มีให้เห็นมากไปตามความถนัดที่ชอบ

เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างก็ได้ ตั้งบริษัทก่อสร้างก็ได้ มีตัวอย่างให้เห็น แต่ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นหมอไม่ได้

หมอไปเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ เช่นอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แต่นายกเป็นหมอไม่ได้

ดังนั้นเมื่อจบหมอแล้ว ใจรักอยากจะทำอะไรตามใจชอบก็ทำได้

วิชาที่เลือกเรียนหรือเลือกอาชีพหมอ มีให้เลือกมากมาย ถ้าไม่ชอบดู พูดคุยกับคนไข้ ก็เป็นหมอพยาธิวิทยา รังสีวินิจฉัย ไม่อยากอยู่เวรกลางคืน ก็เป็นหมอผิวหนังหรือบางสาขาที่ไม่มีภาวะฉุกเฉิน จะเลือกต่ออย่างไรก็ตามความถนัดหรือชอบได้อีกมากมาย

โดยความเห็นส่วนตัว ขณะที่ตัวเองเลือกแพทย์ตอนนั้นไม่ได้ชอบเลย แต่เมื่อมาเรียนแล้วมีความชอบมาก และตั้งใจเมื่อจบแล้ว ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา รวมทั้งอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็สามารถทำได้ดีมาก เพราะมีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ ก็สามารถทำทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปเลย

เมื่อมีนักเรียนมาปรึกษา ก็มักจะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน ให้เห็นระยะยาว และแนวทางในการเดินทาง ส่วนการตัดสินใจอยู่ที่ตัวเด็กเอง

เมื่อพ่อแม่พาเด็กมาปรึกษา ส่วนใหญ่กลับไปก็มีความพึงพอใจทั้งเด็กและพ่อแม่ และได้ติดตามระยะยาวก็พบว่ามีความประสบความสำเร็จดี