บิ๊กจิ๋วเปิดบ้านทำบุญคล้ายวันเกิด 92 ปี ผบ.เหล่าทัพตบเท้าอวยพร บอกห่วงบ้านเมือง พร้อมให้กำลังใจเศรษฐาทำงาน เผยดึงทักษิณลงสนามการเมือง ขอให้ทำให้ดีๆ ไม่งั้นโดนเตะ "กมธ.เดินหน้าถกพรบ.นิรโทษกรรม" ยันทำงานตามกรอบเวลา เตรียมชงผลศึกษา"กก.วินิจฉัยฯ" ด้าน "ศาลรธน." ไฟเขียว "ก้าวไกล" ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารอบ 3 คดียุบพรรค ออกไปอีก 15 วันถึง 2 มิ.ย.นี้ ด้าน"ศาลปกครอง" นัดอ่านคำสั่งขอเพิกถอนระเบียบแนะนำตัว สว. ของ กกต. 24 พ.ค.
ที่บ้านพักวอเตอร์เฮาส์ ถนนกาญจนาภิเษก รามอินทรา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 พ.ค.67 พล.อ.อ.ชากร ตะวันแจ้ง รองเสนาธิการทหาร เป็นตัวแทน พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พร้อมคณะนายทหารจากกองบัญชาการกองทัพไทย ได้นำกระเช้าผลไม้เข้าอวยพร เนื่องในวันคล้ายวันเกิด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 92 ปี จากนั้น. พล.อ.ณัฐวุฒิ นาคะนคร ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก เป็นตัวแทน ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมคณะนายทหารกองทัพบก นำกระเช้าผลไม้เข้าอวยพรเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ชวลิต ได้นิมนต์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุฯ มาเจริญพระพุทธมนต์และฉันท์อาหารเช้าภายในบ้าน โดยมี พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ,พล.อ.ศรชัย มนตริวัติ อดีตนายทหารฝ่ายเสนาธิการของพล.อ.ชวลิตมาร่วมทำบุญด้วย โดยในช่วงเย็น พล.อ.ชวลิตจะจัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิด ซึ่งได้เชิญบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า นักธุรกิจ มาร่วมงานด้วย
จากนั้น พล.อ.ชวลิต ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามว่าในวันเกิดอยากได้อะไร อยากเห็นชาติบ้านเมือง เป็นอย่างไร พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า เป็นห่วงชาติบ้านเมืองเสมอ ก็อยากให้กำลังใจทุกคนที่กำลังทำเพื่อประเทศชาติ รวมทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ด้วย เมื่อถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาอยู่ประเทศไทยแล้ว อยากพบบ้างหรือไม่ พล.อ.ชวลิต ยิ้ม พร้อมกับกล่าวว่า ตนเป็นคนชวนให้นายทักษิณเข้ามาทำงานทางการเมือง และให้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ขอให้ทำให้ดีๆ ทำให้ประเทศชาติเจริญนะ ไม่อย่างนั้นจะโดนเตะ พล.อ.ชวลิต กล่าวอย่างอารมณ์ดี
ด้าน นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ กมธ.มีการประชุมโดยมีวาระพิจารณารายละเอียดของการตรา พ.ร.บ.ว่าควรมีคณะกรรมการวินิจฉัยความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม ไว้ในร่างกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้น จะพิจารณารายงานของอนุกมธ.ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.ด้วย
นายยุทธพร อิสรชัย ประธานอนุ กมธ.ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ. กล่าวว่า การพิจารณาของอนุ กมธ.ฯ ต่อประเด็นคณะกรรมการวินิจฉัยความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม เบื้องต้นมีต้นร่างของกรรมการที่เตรียมเสนอ โดยมีตัวแทนจากฝ่ายตุลาการ อัยการ และตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาในรายละเอียด อย่างไรก็ดี ต้นร่างดังกล่าวนั้นได้นำข้อมูลจากต่างประเทศ รวมถึงข้อเสนอของฝ่ายการเมืองที่เสนอไว้ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่พรรคการเมืองเสนอไว้ในร่างกฎหมาย
"ข้อเสนอของอนุ กมธ.ฯ ต้องนำเข้าที่ประชุมพิจารณาในวันที่ 16 พ.ค.อีกครั้ง ว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ อำนาจของกรรมการวินิจฉัยนั้นจะไม่ก้าวล่วงหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม" นายยุทธพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง ระหว่างคุมขังคดีมาตรา 112 จะทำให้ กมธ.ต้องเร่งการทำงานหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า การทำงานไม่ได้ช้า และการพิจารณาเป็นไปตามกรอบเวลา อย่างไรก็ดี ในกรณีของคดีมาตรา 112 นั้น ถือเป็น 1 ใน 25 ฐานความผิด ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่ได้ตัดออก ทั้งนี้ รายละเอียดรอการนำเสนอต่อสภาฯ ให้พิจารณาอีกครั้ง
เมื่อถามว่า กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ทำให้สังคมพูดถึงเรื่องสิทธิประกันตัวมากขึ้น ในข้อเสนอของ กมธ.จะพิจารณาด้วยหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งมีกรอบและรายละเอียดที่ใช้พิจารณา ขณะที่การทำงานของ กมธ.มีกรอบที่ชัดเจนคือ พิจารณาข้อเสนอเพื่อตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/ 2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
ต่อมาผู้ถูกร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2567 ขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาครั้งที่สองออกไปอีก 30 วันนับถัดจากวันครบกำหนดขยายระยะเวลาครั้งแรก และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งอนุญาตขยาย ระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 15 วันนับถัดจากวันครบกำหนดขยายระยะเวลาครั้งแรก ต่อมาผู้ถูกร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาครั้งที่สาม เป็นครั้งสุดท้ายออกไปอีก 15 วัน นับถัดวันครบกำหนดขยายระยะเวลาครั้งที่สองแล้ว
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของผู้ถูกร้อง ซึ่งขอขยายระยะเวลาเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคำขอซึ่งจะครบกำหนดเขียนคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 มิถุนายน 2567
วันเดียวกัน ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนในคดีที่ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 เนื่องจากเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีไม่ให้ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งสื่อมวลชนเผยแพร่การแนะนำตัวผู้สมัครต่อสาธารณะให้ประชาชนได้รับ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างเดินทางให้การต่อศาลอย่างพร้อมเพรียง โดยฝั่งผู้ฟ้อง นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท เดินทางมาด้วยตัวเอง ขณะที่ กกต.มอบหมายให้ ฝ่ายกฎหมาย สำนักงาน กกต.เป็นตัวแทนมาชี้แจงต่อศาล
ภายหลังการไต่สวนนานกว่า 3 ชม. นายเทวฤทธิ์ เปิดเผยว่า ในการไต่สวนวันนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะทาง กกต. ที่แจ้งต่อศาลว่าได้มีการปรับแก้ระเบียบดังกล่าว ในส่วนของข้อ 7 และ 8 ที่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่เข้ารับการคัดเลือกเป็น สว. สามารถแนะนำตัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ระเบียบข้อ 11 (2) (5) ก็ยังมีผลกระทบต่อผู้สมัคร ที่ทำงานในสายสื่อสารมวลชน และ ศิลปะการแสดง ที่ อาจจะมีปัญหา ในกรณีที่เปิดเผยตัวตน รวมถึงแสดงความสามารถผ่านสื่อสาธารณะประเภทต่างๆ ก็อาจจะมีปัญหากรณีที่ถูกร้องคัดค้านว่า ผิดระเบียบการคัดเลือก สว. โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี จากระเบียบดังกล่าวอาจส่งผลให้ ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครไม่กล้าจะเข้าสมัครได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลว่าจะมีคำสั่ง จะมีคำสั่งเป็นในทิศทางใดในวันที่ 24 พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวในรายงานว่า ในวันที่ 16 พ.ค. ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนในคดีที่ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และพวก ยื่นฟ้องขอเพิกถอนระเบียบดังกล่าวในเวลา 13.30 น.