“สส.ก้าวไกล” จ่อชงกรณี "บุ้ง ทะลุวัง" หารือในกมธ.นิรโทษกรรมพรุ่งนี้ หวังได้คำตอบชัดนิรโทษกรรมรวมคดี ม.112 พร้อมมองกลไกลรัฐ ช่วยชะลอคดี

วันที่ 15 พ.ค.2567 นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม คนที่สอง สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมกมธ. วันที่ 16 พ.ค. ตนจะเสนอให้กมธ.พิจารณาในกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 ซึ่งเสียชีวิตระหว่างคุมขัง ในประเด็นการนิรโทษกรรมม เพื่อไม่ให้ผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งมีคดีผิดมาตรา 112 ต้องเสียชีวิตอีก อย่างไรก็ดีตนเชื่อว่านอกจากตนแล้วจะมีกมธ.คนอื่น เช่น น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ร่วมเสนอประเด็นและพูดคุย เพราะขณะนี้มีสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ดังนั้นกมธ.ควรพูดคุยเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องดังกล่วา

“กมธ.ยังไม่ชัดเจนว่าผลการพิจารณานั้นจะรวมคดีผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาส่วนของพรรคก้าวไกลเสนอว่าไม่ควรตั้งต้นที่ประเภทของคดี แต่ควรพิจารณาจากแรงจูงใจทางการเมืองที่เป็นต้นเหตุสำคัญ แต่หากกมธ.ตั้งต้นที่ประเภทคดีแล้ว ควรพิจารณาให้ครบคดี ไม่ควรมีคดีใดที่ตกหล่นจากการได้รับการนิรโทษกรรม เพราะในบางกรณีพบว่าการแจ้งข้อหานั้นกระบวนการกล่าวโทษมีปัญหาและใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง”

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่าในการนิรโทษกรรมนั้นตนมองไปไกลกว่า กมธ. เนื่องจากบุคคลที่เป็นกมธ.นิรโทษกรรม หลายคนเป็นผู้อาวุโสที่มีบทบาทต่อรัฐบาล ดังนั้นควรพิจารณาในคดีต่างๆ ที่ไม่ได้ประกันตัวให้ได้รับการประกันตัวเพื่อได้ใช้สิทธิต่อสู้คดี และไม่ให้เกิดกรณีของน.ส.เนติพร ซ้ำรอยอีก นอกจากนั้นคือมาตรการที่ทำได้โดยรัฐบาล ผ่านกลไกของการชะลอคดีที่มีเงื่อนไขที่ตรงกับการนิรโทษกรรม ทั้งนี้ควรได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม

“ในประเด็นการชะลอคดีนั้น อาจทำได้หลายทาง แต่ในช่องทางของกมธ. จำเป็นต้องให้เกิดข้อสรุป ซึ่งกมธ.ต้องหารืออีกครั้ง ถึงปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ยอมรับว่ายังมองไม่เห็นทิศทางว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อเรามีกรณีของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ คือ กรณีของบุ้ง ควรคุยกันให้เกิดความชัดเจน” นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีการเสียชีวิตของน.ส.เนติพร ให้บทเรียนอะไรบ้าง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นมิติทางสังคม เพราะไม่ควรมีใครเสียชีวิตจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นและกลายเป็นประเด็นคือ สิทธิการประกันตัว ที่ไม่ควรมีเงื่อนไขถอนประกันจากการกระทำผิดซ้ำ เพราะคดีความที่เกิดขึ้นยังไม่ถูกพิพากษาว่าผิด ดังนั้นกลไกของการต่อสู้คดีประชาชนควรมีสิทธิ ที่เป็นสิทธิพื้นฐาน ในการถูกประกันตัวเพื่อได้รับคำปรึกษาการต่อสู้อย่างกว้างขวางนอกเรือนจำ ทั้งนี้กรณีดังกล่าวสามารถทำได้ผ่านการปรับปรุงกติกาของกระบวนการยุติธรรม ศาล และอัยการ รวมถึงหากต้องการสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนสามารถทำได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ