สินค้าปลอม หรือสินค้าลอกเลียนแบบ หรือที่เรียกกันสั้นๆ จนติดปากว่า “ของก๊อป” ซึ่งก็มาจากคำว่า “ก๊อปปี้ (Copy)” อันหมายถึง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือละเมิดลิขสิทธิ์ จากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแท้ของจริงต้นฉบับ
โดยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ หรือของก๊อป นี้ ในการซื้อขายทั่วไป ก็จะมีราคาถูกกว่าสินค้าของจริง ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้ออยู่แล้ว ซึ่งราคาที่ถูกกว่า ก็มีทั้งที่ถูกกว่ากันอย่างมากๆ หรือถูกกว่ากันไม่มากนัก ตามแต่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบออกมานั้น ผลิตขึ้นมาได้ดีเพียงใด
อย่างที่เรียกว่า ก๊อปไม่เอาไหนทั้งในส่วนของรูปลักษณ์ภายนอกและคุณภาพของสินค้า ราคาก็จะถูกกว่าของจริงอย่างมากๆ แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าลอกเลียนแบบ ที่ผลิตขึ้นมาจนรูปลักษณ์ภายนอกและคุณภาพใกล้เคียงกับของจริง หรือที่เรียกกันว่า “ก๊อปเกรดเอ” ราคาสินค้าของปลอมก็อาจจะใกล้เคียงกับสินค้าของจริง หรือห่างกว่ากันก็ไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบทั้งที่เป็นของก๊อปอย่างไม่เอาไหนห่างชั้น และของก๊อปเกรดเอ ทั้งหมดก็ล้วนสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของจริง ของแท้ กันทั้งสิ้น
แถมมิหนำซ้ำ ยังเป็นความเสียหายที่หากคิดเป็นมูลค่า ก็มีจำนวนมหาศาลอีกต่างหากด้วย หากกล่าวถึงสถานการณ์การซื้อขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบทั่วโลก
จากการเปิดเผยขององค์การระหว่างประเทศ ที่ได้ศึกษาติดตามสถานการณ์ซื้อขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ ทั้งในแบบบนดิน คือ ตลาดทั่วไป และในแบบตลาดออนไลน์ ที่ผู้ซื้อผู้ขายดำเนินกิจกรรมผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ต่างๆ ทั่วโลกในแต่ละปีก็มีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กันเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างในรายงานของ “องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” หรือ “โออีซีดี” (OECD : Organization for Economic Co-operation and Development) อันเป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตลอดจนรูปแบบทางเศรษฐกิจการค้าเสรี ในการร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปและโลก ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีส เมืงหลวงของฝรั่งเศส ก็ระบุว่า เอาเฉพาะช่วงปี 2019 (พ.ศ. 2562) ที่ผ่านมา อันเป็นปีล่าสุดของการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นทางการ มูลค่าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ ที่มีการซื้อขายในตลาดประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็มีจำนวนมูลค่ามากถึง 4.64 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยกัน (คิดเป็นเงินไทยราวกว่า 17 ล้านล้านบาท)
นั่น! เป็นมูลค่าการซื้อขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นของปลอมลอกเลียนแบบ ซึ่งราคาของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ก็มีราคาที่ต่ำกว่า ถูกกว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแท้ของจริงถูกต้องตามลิขสิทธิ์กันอยู่แล้ว โดยถ้านับในส่วนที่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแท้ของจริงขายไม่ได้ เพราะถูกสินค้าของปลอมลอกเลียนแบบขายตัดหน้าไป ก็จะทำให้มูลค่าความเสียหายมากกว่าที่ทางโออีซีดีรายงานไปข้างต้น
เมื่อความเสียหายมีมูลค่ามากมายกันฉะนี้ ก็ส่งผลให้บรรดาประเทศที่เป็นผู้ผลิต หรือเจ้าของ สินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นของแท้ของจริง มิอาจนิ่งนอนใจต่อไปได้
โดยที่ผ่านมา บรรดาประเทศข้างต้น ก็ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการที่ปราบปราม กวาดล้าง สินค้า ผลิตภัณฑ์ ของปลอม ของก๊อปปี้ กันอย่างหนัก รวมไปถึงมีกระบวนการขั้นตอนการทำลายสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ลอบเลียนแบบอย่างนี้ หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปราม เช่น ศุลกากร เป็นต้น จับกุมไว้ได้
ล่าสุด ทางการ 3 ประเทศและกลุ่มประเทศที่ผู้ผลิตสินค้าของแท้ของจริงแถวหน้าของโลก อันได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป หรืออียู ก็จะเพิ่มมาตรการจัดการกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ ของก๊อป ต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศและกลุ่มประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์ของแท้ของจริงเหล่านี้ จัดให้สินค้าลอกเลียนแบบ หรือของก๊อปทั้งหลาย ให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ตามรายงานข่าวระบุว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ หรือของก๊อป เหล่านี้ ก็มีที่มาแหล่งผลิตเป็นจำนวนมากอยู่ในประเทศจีน และในกลุ่มประเทศที่กำลังเกิดใหม่ทั้งหลาย ซึ่งบรรดาประเทศที่กิจการผู้ผลิตสินค้าของจริงของแท้ ออกมาตำหนิประณามว่า ผู้ผลิตสินค้าลอกเลียนแบบของก๊อปเหล่านี้ สร้างความเสียหายทั้งในทางธุรกิจและเศรษฐกิจระดับประเทศอย่างใหญ่หลวง
โดยมีรายงานว่า ทั้งญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ตลอดจนอียู ระบุให้เป็นการเสริมสร้างมาตรการเพื่อตอบโต้สินค้าลอกเลียนแบบครั้งสำคัญเลยทีเดียว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกิจการผู้ผลิตสินค้าของแท้ของจริง รวมไปถึงสินค้าประเภทแบรนด์เนม ที่มีราคาแพง ซึ่งทั้ง 3 ประเทศและกลุ่มประเทศ มีสินค้าประเภทนี้อยู่หลายยี่ห้อ และหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า รวมไปถึงเครื่องสำอางอันเลื่องชื่อทั้งหลาย
ทั้งนี้ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอียู จะดำเนินการร่วมกับโออีซีดี ในการเสริมสร้างมาตรการตอบโต้ต่อพวกสินค้าลอกเลียนแบบ ของก๊อปทั้งหลายด้วย
ในแผนการที่ทั้ง 4 ฝ่ายเตรียมที่จะดำเนินมาตรการนั้น นอกจากตัวสินค้าแล้ว ก็ยังจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับช่องทางการค้า การขาย สินค้าของก๊อปเหล่านี้อีกด้วย
โดยจะดำเนินการผ่านการร่วมมือกับบรรดาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขายสินค้า หรือขายของ ผ่านระบบออนไลน์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ว่าในระดับยักษ์ใหญ่ อาทิ แอมะซอนดอทคอม และราคูเทนกรุ๊ป เป็นต้น ต้องมีมาตการ หรือเครื่องไม้ เครื่องมือ ในการป้องกัน เพื่อไม่ให้สินค้าลอกเลียนแบบ ของก๊อปทั้งหลาย มาใช้เป็นช่องทางการค้า การขาย ผ่านแพลตฟอร์มข้างต้นกันได้อีกต่อไป โดยแผนการที่ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ อียู และโออีซีดี ที่จับมือกันครั้งล่าสุด ก็จะมีผล เป็นแนวทางการปฏิบัติในปี 2025 (พ.ศ. 2568) ต่อไป หลังจากที่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทางโออีซีดี ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อจัดการสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ ของก๊อปทั้งหลายขึ้นมาโดยเฉพาะ