กนอ.จัดกิจกรรม “ISB Roadshow ครั้งที่ 1”ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม สู่เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กนอ.ปี 2567 (I-EA-T Sustainable Business 2024) ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและต่อเนื่อง ด้าน “วีริศ” เผยภายในสัปดาห์นี้จะลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หารือยกระดับแผนการเผชิญเหตุ แผนการอพยพ และแผนการช่วยเหลือให้เข้มงวด รัดกุม และครอบคลุมถึงทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

พลเอกกนิษฐ์ ชาญปรีชญา ประธานคณะอนุกรรมการด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า ตลาด และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม กล่าวว่า กนอ.ให้ความสำคัญกับการสร้างความมีส่วนร่วมกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ภาคีเครือข่ายจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม จึงเกิดเป็นภาพการขับเคลื่อน ISB Community เครือข่ายความร่วมมือของธุรกิจน้ำดีที่สร้างความยั่งยืนสู่สังคมกว่า 100 องค์กรอย่างต่อเนื่องมาถึงปีที่ 3 บทบาทสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ควบคู่การพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน ด้วยหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข นำพาการบริหารงาน บริหารธุรกิจ บริหารชีวิต นำไปสู่ความสมดุลของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กนอ.ได้นำมาประยุกต์ให้สอดรับกับมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

โดย กนอ.มีปณิธานแน่วแน่ในการสร้างผลสัมฤทธิ์และคุณค่าทางสังคม มุ่งมั่นยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยทุนทางการเงิน ผลักดันกลไกดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ฐานการผลิตที่แข็งแกร่งในภูมิภาค ส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศด้วยทุนมนุษย์ ยกระดับขีดความสามารถของประเทศด้วยการสร้างงาน สร้างทักษะวิชาชีพความรู้ วิจัย เทคโนโลยี ที่มีมาตรฐานเทียบเคียงในระดับสากล สานพลังภาคีเครือข่ายและพันธมิตรทุกภาคส่วนด้วยทุนทางสังคมที่แข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกัน บริหารความเสี่ยง และส่งเสริมพลังแห่งโอกาส ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ประการสุดท้าย คือ การอนุรักษ์ซ่อมสร้างดูแลทุนธรรมชาติ ที่เป็นระดับนิเวศที่สมดุล อยู่ร่วมกันกับมนุษย์และการดำเนินธุรกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน

“ผมขอชื่นชมและขอบคุณในความมุ่งมั่นและความเป็นผู้นำของทั้ง ผู้บริหาร กนอ. หน่วยงานนำร่อง ทั้งผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม ที่สำคัญคือ เครือข่ายผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ที่ลุกขึ้นมาสร้างความแตกต่างของธุรกิจในการสร้างประโยชน์และคุณค่าทางสังคม ตลอดจนห่วงโซ่ในการดำเนินธุรกิจ”พลเอกกนิษฐ์ กล่าว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า กนอ.ในฐานะฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทยที่มีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ดังนั้น สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน และผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จึงต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างเกื้อกูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือสังคมโดยรอบ มุ่งมั่นเป็นองค์กรสร้างคุณค่าทางสังคม สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อวางรากฐานให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินงานนำร่องในปี 2565 และ 2566 ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการจนเกิดผลลัพธ์ทางสังคมกว่า 2,423 ล้านบาท

“การก้าวสู่ปีที่ 3 ในปี 2567 กนอ.มีกลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ขยาย : การเข้าสู่มาตรฐาน ISB โดยการส่งเสริมการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเพื่อนโรงงานผ่านกิจกรรม ISB Roadshow และพัฒนาผลสัมฤทธิ์ BIA และ SIA จากกิจกรรม Coaching 2) ร่วม : เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผนึกกำลังอุตสาหกรรมไทยให้สามารถขับเคลื่อนสู่สากลอย่างยั่งยืน และพัฒนาแนวทางในการจูงใจผู้ประกอบการให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจควบคู่กับการส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาตนเอง และ 3) เผยแพร่ : ข้อมูล ESG และผลสัมฤทธิ์ จากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ ISB Lists พร้อมส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง”นายวีริศ กล่าว

ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวถึงกรณีเหตุเพลิงไหม้ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ด้วยว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ กนอ.จะยกระดับบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของความชัดเจนในขอบเขตหน้าที่ที่รับผิดชอบ และสิ่งที่ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ ภายในสัปดาห์นี้จะลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อประชุมถึงมาตรการต่างๆที่ต้องปรับยกระดับให้มีความเข้มงวด รัดกุม และครอบคลุมถึงทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดย กนอ. จะต้องทำการศึกษายกระดับแผนการเผชิญเหตุ แผนการอพยพ และแผนการช่วยเหลือ ถึงแม้ว่ากฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆจะไม่ได้กำหนดไว้ให้ แต่ในวันนี้ต้องมีการหารือเพื่อปรับรูปแบบการดำเนินการ กฎระเบียบต่างๆ ให้ตรงกับความคาดหวังของประชาชน สังคม และผู้มีส่วนได้เสีย จากนั้นจะส่งการยกระดับแผนดังกล่าวให้ทางจังหวัดต่อไป ทั้งนี้ กนอ.จะบังคับใช้แผนยกระดับนี้อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของทุกคนในพื้นที่ให้กลับมาให้ได้ กนอ. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ มีหน้าที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ความเชื่อมั่นในการประกอบกิจการ และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างยั่งยืน

โครงการ I-EA-T Sustainble Business (ISB) คือ ส่วนหนึ่งของการทำให้การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างยั่งยืน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับจากชุมชนในพื้นที่ ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริมกลไกการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินการดำเนินธุรกิจที่สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ภายใต้เป้าประสงค์ 3 ประการได้แก่ 1) สร้างความตระหนัก เข้าใจ และเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 2) รับสมัครผู้พัฒนานิคมอุสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ในการประเมินรับรอง ISB Lists และรับสมัครผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมเข้าร่วมการประเมินรับรอง ISB Lists ซึ่งนำไปสู่การเข้าร่วมประกวดรางวัล ISB Awards สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม 3) เกิดความร่วมมือและผลักดันสู่การพัฒนา ขยาย Impact ขององค์กร

ทั้งนี้ในปี 2567 จะมีการจัด ISB Roadshow จำนวน 4 ครั้งในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสงขลา โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุม Infinity 1 ชั้น G โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) เพื่อแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาและมุมมองในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน ร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม ผู้พัฒนานิคมร่วมดำเนินงาน และผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคีพันธมิตรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดเสวนาในรูปแบบ On-Site ในลักษณะ One on One Coaching นอกจากนี้ยังได้ทดลองเรียนรู้และฝึกใช้เครื่องมือ ISB ในการวิเคราะห์ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders Engagement), Impact จากกระบวนการดำเนินธุรกิจ (CSR In Process) และกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR After process) และเทคนิคในการตรวจรับรอง/ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง

 

#ข่าววันนี้ #การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #กนอ #มาบตาพุด #นิคมอุตสาหกรรม