นักวิชาการ มั่นใจประเทศไทยมีมาตรฐานการเลี้ยงและการผลิตสุกรที่ดี แนะเลือกซื้อเนื้อหมูจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ได้มาตรฐาน แหล่งที่มาน่าเชื่อถือ มีการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ย้ำผู้บริโภคควรรับประทานเนื้อหมูปรุงสุกเพื่อความปลอดภัย

รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “เนื้อหมู” เป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่งของคนไทย เป็นแหล่งโปรตีนช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย มีวิตามิน กรดไขมัน และแร่ธาตุ รสชาติอร่อย หาซื้อได้ง่ายราคาสมเหตุผล และประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู 

การเลี้ยงสุกรในประเทศไทยมีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลตลอดห่วงโซ่การผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสุกร (Good Farming Management : GFM) การจัดการให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ด้วยระบบการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูล การพัฒนาคุณภาพผลผลิต ตลอดจนการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อตอบสนองความต้องการเนื้อสัตว์คุณภาพดีและปลอดภัยของผู้บริโภค

รศ.ดร.ศกร แนะ 3 วิธี ในการเลือกซื้อเนื้อหมูให้ปลอดภัย เริ่มต้นด้วย 

1. สังเกตราคาสินค้า ไม่ควรราคาถูกเกินไปจนผิดปกติ และ ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่เก็บในตู้หรือห้องแช่แข็งที่อุณหภูมิเหมาะสม เพื่อรักษาสภาพความสดไว้ต่อเนื่อง

2. เนื้อหมูที่ดี ใช้นิ้วกดเนื้อจะแน่นคืนสภาพได้ ไม่บุ๋มยุบตัว ส่วนความสดให้สังเกตที่สี สีไม่ซีดหรือเขียวคล้ำ มีสีแดงสดตามธรรมชาติ ไม่แดงเข้มจนเกินไป เพราะอาจมีการใส่สารเร่งเนื้อแดง ไม่มีลักษณะฉ่ำน้ำหรือน้ำเจิ่ง ไม่มีเมือก และไม่มีกลิ่นที่ผิดปกติ 

3. เลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ได้การรับรองจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหาร มีตราสัญลักษณ์ หรือมีเครื่องหมาย “ปศุสัตว์ OK” รับรองความปลอดภัย ถูกสุขอนามัย สามารถตรวจสอบแหล่งผลิตต้นทางได้

สำหรับเนื้อหมูที่บรรจุในแพ็คเกจ ให้ดูวันหมดอายุ ฉลากข้อมูล ตราสินค้า ประกอบการเลือกซื้อ หรือเลือกแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ที่มีความน่าเชื่อถือ มีระบบตรวจสอบตามมาตรฐาน จะช่วยลดความเสี่ยงปัญหาเรื่องสุขภาพได้

นอกจากนี้ รศ.ดร.ศกร ย้ำว่า การรับประทานเนื้อหมูให้ปลอดภัย ควรบริโภคที่ปรุงสุก เพราะการปรุงสุกช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้ ควรปรุงด้วยความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 71 องศาเซลเซียส (160 องศาฟาเรนไฮด์) เพื่อทำลายเชื้อโรคที่อาจติดมาและทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคไข้หูดับ โรคพยาธิ หรือ โรคที่ทำให้เกิดท้องเสีย และเกิดอันตราย