Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.81 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.75-36.84 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ ทว่าการแข็งค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังคงปรับตัวลดลงเข้าใกล้โซนแนวรับระยะสั้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้น (1 ปี) และระยะยาว (5 ปี) ที่สำรวจโดยเฟด สาขานิวยอร์ก ออกมาสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าราว +0.3pct และ +0.2pct ตามลำดับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาวจากทั้งผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสัปดาห์ก่อนหน้า และผลสำรวจโดยเฟดนิวยอร์กคืนวันจันทร์ (ตามเวลาประเทศไทย) ออกมาสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ส่งผลให้โดยรวม S&P500 ปิดตลาด -0.02%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.02% โดยผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งยุโรป ทั้ง GDP ไตรมาสแรกของยูโรโซน ข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของ Novo Nordisk +3.0% หลังยา Wegovy ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นยาลดน้ำหนัก
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 4.50% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง ตามรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อนึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้น หากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ทว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง เราก็ยังคงแนะนำให้นักลงทุนเน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip เนื่องจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแกว่งตัว sideways ในกรอบ โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเพิ่มสถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ยังได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต่างปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจไหนก็ตาม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถวระดับ 105.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105-105.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงอยู่ในช่วงการปรับฐาน และย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นแถว 2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง เพื่อรอลุ้นการรีบาวด์ที่อาจเกิดขึ้น หากรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งอาจช่วยสะท้อนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและทิศทางนโยบายการเงินของทางธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน ทั้งยอดการจ้างงานและการเติบโตของค่าจ้าง รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เช่นกัน และในฝั่งไทย ควรรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways แถวระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI (ตลาดรับรู้ราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) และถ้อยแถลงของประธานเฟด (ราว 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งต้องจับตาโซนแนวต้านระยะสั้น 36.85 บาทต่อดอลลาร์ ว่าเงินบาทจะสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เราประเมินว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่บ้าง อาทิ โฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม จนกว่าจะเห็นภาพแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงบ้าง แถวโซน 36.90-37.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกบางส่วนก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าวบ้าง
ในกรณีที่ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก (ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ) ในทางกลับกัน เราคาดว่า หากดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ออกมาตามคาด หรือ ต่ำกว่าคาด อาจช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์ได้
โดยเราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.95 บาท/ดอลลาร์
#ค่าเงินบาท #ดอกเบี้ย #เงินเฟ้อ #ข่าววันนี้