พ่อเมืองสามหมอก นำทีมแม่ฮ่องสอนท่องเที่ยวพลัส และส่วนราชการลงพื้นที่จัดการการท่องเที่ยวยั่งยืนเตรียมการเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งปี ชูคุณค่าอัตลักษณ์เมืองรอง “แม่ฮ่องสอนผ่อนคลาย แสงสุดท้ายแดนสยาม” 

เมื่อวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำทีมแม่ฮ่องสอนท่องเที่ยวพลัส พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวสายใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมพบปะหารือกับผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย และอำเภอแม่ลาน้อย โดยมีนายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่รับผิดชอบดูด้านเศรษฐกิจ และสังคม เป็นแม่งานร่วมกับทีมแม่ฮ่องสอนท่องเที่ยวพลัส ประกอบด้วย นายกรวิทย์ ช่วยดู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าที่ร้อยตรีภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน พ.ต.ท.สุวิทย์ บุญยะเพ็ญ สารวัตรสถานีตรวจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน (สทท. 4 กก.2 บก.ทท.2) นายภานุเดช  ไชยสกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน (และนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ดำเนินการจัดกิจกรรมการสำรวจพื้นที่ และพบปะผู้นำชุมชน รวมทั้งประชุมหารือวางแนวทางการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการการดำเนินงานดังกล่าว อาทิ นายศเนติ จิรภาสอังกูร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายธนากร พรหมดวง ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการ สำนักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายเรืองฤทธิ์ ผลดี ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน นางสาวมัลลิกา จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน นายสุพิชัย เต็งประเสริฐ ขนส่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายเอกวุฒิ ชุมวรฐายี พาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน นางสาวจิรารัตน์ ฟองการ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายพยุงศักดิ์ สิทธิลภ เกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอนนางสาวฐิตินันท์ เนื้อน้อย หัวหน้ากลุ่มและพัฒนาเกษตรกร นายเกษม คำมา ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน นายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมนายจตุรภณ  พัฒนาชาติเจริญกุล ผู้แทนสมาคมนักวิทยุสมัครเล่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

การลงพื้นที่ดังกล่าวเริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 ช่วงเช้าคณะพร้อมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง โดยมีนายวรศักดิ์  พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง พร้อมด้วยทีมงาน และ ร.ท.ภุชงค์  นาคำ ผู้บังคับกองร้อยทหารพราน ปฏิบัติหน้าที่ นายทหารยุทธการ กรมทหารพรานที่ 36 ร่วมให้การต้อนรับ ดูแลความปลอดภัย บรรยายสรุปข้อมูลและประสานงานในพื้นที่ จากนั้นเดินทางไปยังบ้านเสาหิน หมู่ที่ 1 ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนไทย-เมียนมา และเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญและสวยงามอีกแห่งหนึ่งของอำเภอแม่สะเรียง เนื่องจากมีประติมากรรมทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการกัดกร่อนของน้ำ ดินและหิน เป็นรูปคล้ายแท่งเสาหิน ที่สวยงาม ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับเมืองห้วยทราย จังหวัดบอระแคะ ของสหภาพเมียนมา ซึ่งสามารถเดินทางต่อ (ในเขตเมียนมา) ไปยังจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนบ้านห้วยตุ้นนุ่นของอำเภอขุนยวมได้ โดยใช้เวลาประมาณเพียง 40 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวสูง หากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านมีความสงบสามารถจัดเป็นวงรอบการท่องเที่ยวใหม่ที่เชื่อมโยงกันได้ สำหรับในพื้นที่บ้านเสาหิน มีนายอาคม บุญโนนแต้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน พร้อมทีมงานของหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน และตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบ้านเสาหิน มีระยะทางการเดินทางเข้าถึงยากลำบากในฤดูฝน เนื่องจากภูมิประเทศเป็ยภูเขา และยังเป็นทางดินประมาณ 30 กิโลเมตร ต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อในฤดูฝน และในฤดูแล้งจะมีฝุ่นหนา ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต รวมทั้งการคมนาคมไปทำธุระต่าง ๆ ประกอบกับส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จึงทำให้การพัฒนามีข้อจำกัด ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการพัฒนาเส้นทางให้มีความสะดวกทั้งการปรับผิวทางเส้นทางคมนาคม การติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนส่งเสริมอาชีพที่มั่นคงแก่ประชาชน เช่น พืชเศรษฐกิจ ที่ไม่ทำลายป่าไม่ อาทิ กาแฟ โกโก้ ชา ฯลฯ รวมทั้งจะใช้กลไกด้านการท่องเที่ยวเข้าไปช่วยขับเคลื่อนให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมในการดำรงชีพและพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต 

ต่อมาในวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำคณะฯ เดินทางไปเยี่ยมชมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ สิริกรฟาร์ม อำเภอสบเมย ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติและการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมถ่ายทอดให้แก่ผู้มาศึกษาดูงาน โดยมีนายศราวุธ ทังดิน นายอำเภอสบเมย พร้อมทีมงานส่วนราชการอำเภอสบเมย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสบเมย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่คะตวน พร้อมผู้นำชุมชน ร่วมให้การต้อนรับบรรยายสรุปให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 

จากนั้นเดินทางไปบริเวณ “กลอเซโล” แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักดีในการเป็นแหล่งชมพระอาทิตย์ตกดิน สัมผัสอากาศหนาว ชมทะเลหมอกสองแผ่นดิน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีรายได้เสริมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยการเปิดพื้นที่หลังฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรเป็นลานกางเต็นท์ จำหน่ายอาหาร ของที่ระลึก บริการรถขับเคลื่อนสี่ล้อขนส่งนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนตุลาคม ถึงกุมภาพันธุ์ทุกปี โดยมีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ ที่ดำเนินการดังกล่าว พร้อมร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ณ บริเวณลานต้นโพธิ์ของสำนักสงฆ์บ้านบุญเลอ โดยได้รับเกียรติจากสำนักงาน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน เป็นเจ้าภาพ จากนั้นในช่วงบ่ายได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์พร้อมมอบนโยบายและปลูกฝังแนวคิดการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำส่งคุณค่าอัตลักษณ์ของพื้นที่ให้แก่ผู้มาเยือนในการเป็นแหล่งชมพระอาทิตย์ตกดินชมแสงสุดท้ายแดนสยามที่สวยงามแล้ว ต้องได้รับข้อมูลตามข้อเท็จจริง มีความปลอดภัยเกิดความประทับใจ เพื่อให้กลับท่องเที่ยวซ้ำ ตลอดจนมีระยะพำนักที่ยาวนาน และสามารถใช้จ่ายให้เกิดการหมุนเวียนเงินตราในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยต้องรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชน รวมทั้งร่วมกันฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อม มีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ไม่ฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบ ไม่ขายที่ดินให้นายทุนภายนอกและต้องมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาร่วมกันบริหารจัดการจัดระเบียบให้เป็นแนวทางเดียวกัน รวมทั้งการจัดการของเสีย เช่น ขยะ อย่างเป็นระบบ โดยมอบหมายทีมงานแม่ฮ่องสอนท่องเที่ยวพลัส เป็นหน่วยงานหลักช่วยชุมชนบริหารจัดการ โดยพบว่า ปัจจุบันกลอเซโล มีจุดกางเต็นท์พักแรมของนักท่องเที่ยวประมาณ 21 จุด กระจายไปตามพื้นที่ ส่วนใหญ่ตั้งชื่อนำหน้าว่า “ม่อน” ซึ่งหมายถึง ดอย หรือยอดเนินเขา อาทิ ม่อนกลอเซโล หม่อนทะเลหมอกสองแผ่นดิน เป็นต้น

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำคณะฯ เดินทางไปสำรวจเยี่ยมชมพื้นที่บ้านสบเมย หมู่ 4 ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนปลายเขตแดนไทยริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำเมยไหลย้อยทิศเหนือขึ้นมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ก่อเกิดทัศนียภาพที่งดงาม พร้อมชมปรากฎการณ์แม่น้ำสองสีอย่างสวยงาม โดยทางคณะ ฯ ได้พบปะผู้นำชมชุนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์และร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ เนื่องจากมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวสูงมาก สามารถเดินทางเชื่อมต่อจากกลอเซโลมาทางรถยนต์ได้เพียง 40 นาที หรือสามารถล่องเรือมาทางแม่น้ำสาละวิน โดยลงเรือจากท่าเรือบ้านแม่สามแลบเพียง 45 นาที  โดยคณะบางส่วนได้ทำ Content เผยแพร่ทางสื่อ Social Media ในช่วงเย็นมีการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยมีอาหารขึ้นชื่อได้แก่เมนูปลาสาละวิน และเข้าพักแบบกางเต็นท์ ซึ่งพื้นที่เป็นพื้นที่โล่งสามารถชมดาวได้อย่างสวยงามอีกจุดหนึ่ง 

สำหรับวันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2567 ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำคณะฯ เดินทางไป บ้านแม่สามแลบ ซึ่งเป็นจุดการค้าชายแดน และการท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอแม่สะเรียง ชมท่าเรือ พร้อมทดสอบกิจกรรมการล่องเรือแม่น้ำสาละวิน ซึ่งท่าเรือบ้านแม่สามแลบ มีบริการเรือนำเที่ยวขึ้นไปยังบ้านท่าตามฝั่ง และล่องไปยังบ้านสบเมยได้ จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำคณะฯ เดินทางไปธนาคารข้าวแห่งแรกของไทย ที่บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งทรงพระราชกรณียกิจเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านปาแป๋ พร้อมพระราชทานธนาคารข้าวแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2513 

จากนั้น ใบช่วงบ่าย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำคณะ ฯ เดินทางไปไปยังบ้านห้วยห้อม ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามเส้นทางใหม่ที่ได้รับการพัฒนา และได้รับการขนานนามว่า “ถนนลอยฟ้าที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่งของไทย” เนื่องจากมีทัศนียภาพของทุ่งนาขั้นบันไดสลับกับภูเขาป่าไม้อย่างสวยงามตลอดสองข้างทาง สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนจากน้ำพุร้อนแม่อุมลอง บ้านป่าแป่ - บ้านละอูบ - บ้านห้วยห้อม ได้อย่างสะดวก โดยมีว่าที่ร้อยตรี วิทยา โปทาศรี นายอำเภอแม่ลาน้อย พร้อมโดยมีนาย กำธร ชมพนา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยห้อม นายณัฐพงษ์ ไผ่พันธุ์พฤกษ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย ตลอดจนผู้นำชมชนและชาวบ้านร่วมให้การต้อนรับคณะฯ ณ บริเวณ มะลิวัลย์ โฮมสเตย์ ซึ่งเป็นที่พักนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวละเว๊อะ อาทิ แหล่งปลูกกาแฟห้วยห้อมที่มีชื่อเสียง การทำผ้าทอขนแกะ และพืชผลทางการเกษตร ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยอาทิ สำนักงานพัฒนาการจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวภาครัฐภาคเอกชน ฯลฯ จากนั้น ได้นำคณะ ไปชมหมู่บ้านละอูบ ซึ่งเป็นชุมชนชาวละเวื๊อะ (ลั๊วะ) ที่มีวิถีชีวิตทางการเกษตร และมีรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเปิดบ้านพักอาศัยเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยว ตลอดจน จำหน่ายอาหารท้องถิ่น และของที่ระลึก อาทิ ทอมือ สายคล้องคอแบบชาวละเวี๊อะ เครื่องเงิน 100 % คุณภาพดี ภายในชุมชนบ้านละอูบ มีจุดชมวิว 360 องศา บริเวณ ลานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สร้างเสร็จภายในวันเดียว ชื่อพระพุทธนิโรคันตรายนริศรจตุรทิศประชานาถ อันมีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่ป้องกันภัยภยันตรายนานา เป็นที่พึ่งแก่ประชา ผู้มากราบไหว้บูชา จากทิศทั้งสื่” จากนั้นเดินเยี่ยมเยือนประชาชนในหมู่บ้าน พร้อมร่วมรับประทานอาหาร ซึ่งได้รับเกียรติจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเจ้าภาพ จากนั้น เดินทางกลับจังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า กิจกรรมการลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการบูรณาการกับส่วนราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซี่งทุกภาคส่วนจะมีการประสานงานการปฏิบัติงานที่สอดรับกันภายใต้แนวคิด MAEHONGSON (MHS) คือ เมืองแห่งความสุขของผู้อยู่อาศัย และผ่อนคลายสำหรับผู้มาเยือน ซึ่งมีตัวย่อว่า MHS ได้แก่ M = Maehongson หมายถึง การชูอัตลักษณ์แม่ฮ่องสอน ที่มีความโดดเด่นด้านธรรมชาติ และวิถีชีวิตชาวชาติพันธุ์ H = Happiness & Relaxing หมายถึง เมืองแห่งความสุขและการผ่อนคลาย S = Sustainable & Sufficiency Economy หมายถึง การพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำพระราชดำริ พระบรมราโชวาทฯ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการปฏิบัติราชการ ซึ่งจะขับเคลื่อนไปทุกมิติไปด้วยกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาช่วยขับเคลื่อนซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเกิดการหมุนเวียนเงินตราในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้เกิดมิติของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการฟื้นฟู และอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้อยู่ดีกินดี มีสุขภาพดี มีรายได้และเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ