วันที่ 13 พ.ค.2567 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา น.ส.กมลทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีเพลิงไหม้โรงงานถังเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน บริษัทมาบตาพุดแทงค์ เทอร์มินอล จำกัด อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่9พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต1ราย บาดเจ็บ 5 รายว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับที่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นกำลังใจให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ขอชื่นชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ นักผจญเพลิง ที่ได้รับเข้าระงับเหตุกันอย่างเต็มความสามารถ แต่แม้จะระงับเหตุได้ แต่ยังเกิดปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง ที่อาจเป็นสาเหตุไม่สามารถควบคุมเพลิงได้รวดเร็วทันท่วงที การแจ้งเหตุ การสื่อสารกับประชาชน และสื่อมวลชนค่อนข้างน้อย ล่าช้า ไม่ชัดเจนทำให้เกิดความตระหนก ความสับสนกับประชาชนในพื้นที่ ที่ไม่ทราบว่าจะต้องป้องกันตัวเองอย่างไร มีชุมชนใดต้องอพยพ อพยพไปที่ใดถึงจะปลอดภัย
น.ส.กมลทรรศน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศของหน่วยงาน การดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ การตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นไปตามกับทิศทางลมหรือไม่ เนื่องจากปลายทางของทิศทางลมที่พัดพาควันจากเพลิงไหม้ไปทางอ.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง แต่จุดวัดคุณภาพอากาศยังอยู่ที่ชุมชนตากวน ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้าม ขณะเดียวกันมีประชาชนได้รับผลกระทบสุขภาพ เช่น ระคายเคืองผิว แสบตา แสบคอ เวียนศรีษะ อาเจียนมีผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพในพื้นที่พบว่าแสดงอาการถึงกว่า 100 คน ในจำนวนนี้อาการหนัก 60 กว่าคน แต่ตัวเลขการตรวจวัดคุณภาพอากาศกลับบอกว่าปกติ จึงขอถามว่าใช้เกณฑ์ใดในการตรวจวัด ซึ่งตนในฐานะรองประธานกมธ.อุตสาหกรรม จะนำข้อสังเกตดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมกมธ. วันที่15พ.ค.นี้ เพื่อที่จะได้พิจารณาเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นิคมอุตสาหกรรม และบริษัทธุรกิจในนิคมฯ มาชี้แจงต่อกมธ.เพื่อหาแนวทางป้องกันรับมือต่อไป
“เราควรมาร่วมกันป้องกันปรับปรุง ทบทวนมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนการป้องกันเหตุ การประเมินความเสี่ยงแผนฉุกเฉิน แผนเผชิญเหตุ แผนอพยพประชาชน แผนการสื่อสารกับประชาชนและสื่อมวลชน รวมถึงแผนการฟื้นฟูเยียวยา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง จ.ระยอง ได้ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี2552 แต่กลับมีจำนวนโรงงานเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี ดังนั้นการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษจากอุตสาหกรรม ต้องมีการทบทวนหรือไม่ ศักยภาพการรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินระดับจังหวัดควรต้องมีการทบทวนหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจ.ระยองควรมีมาตรการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินแบบข้อความส่งตรงประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับมือเหตุการณ์ ขณะที่ส่วนราชการควรสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน ง่ายต่อการบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยจ.ระยองอาจสร้างเป็นโมเดลในการดำเนินการ” น.ส.กมลทรรศน์ กล่าว