สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA)  จัด Class Action สัญจรจังหวัดชลบุรี เป็นครั้งที่ 3 ดึงทนายความอาชีพทั่วภาคตะวันออก ครอบคลุม 10 จังหวัด ร่วมอบรม หลักการ เหตุผล และเงื่อนไขของการดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ รับข้อมูลและแนวทางปฏิบัติตรงจากผู้พิพากษาศาลสูง อบรมจบรับวุฒิบัตรทันที่ใช้เป็นใบเบิกทางเข้าสู่ทนายความที่ผ่านการอบรมความรู้คดีด้านตลาดทุน  

คุณยิ่งยง นิลเสนา นายก สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) องค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล ทำหน้าที่ สนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน เพื่อความยั่งยืน  ที่อยู่คู่ตลาดทุนไทยมากว่า 35 ปี เปิดเผยว่า แผนงานสมาคมปีนี้ยังคงให้ความสำคัญในการให้ความรู้เรื่อง การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) อย่างต่อเนื่องซึ่งปีนี้ได้จัดสัญจร 4 ภาค ใน 9 จังหวัด ที่ผ่านมาดำเนินการมาแล้ว 2 จังหวัดและครั้งที่ 3 จัดที่จังหวัดชลบุรี  ได้รับความสนใจจากทนายความอาชีพเข้าร่วมอบรมในหลัก 100 ราย และเมื่อรวมกับการสัญจรที่ผ่านมา มีทนายความอาชีพได้ผ่านการอบรมประมาณ 300 กว่าคนแล้ว  ซึ่งก็คาดหวังว่า การฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action จะเป็นเครื่องมือในการปกป้องนักลงทุนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการลงทุน

คุณสิริพร จังตระกูล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัด Class Action สัญจร ปีนี้ ทาง TIA ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณทั้งหมดจาก กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF )เป้าหมายของการจัดสัญจรให้ความรู้เชิงลึกทั้งทางทฤษฎีและแนวทางปฎิบัติและการนำมาใช้ในอาชีพจริง  ให้กับทนายความอาชีพทั่วประเทศไทย ในการนำกฎหมาย Class Action มาใช้ในตลาดทุนไทย เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลและปกป้องนักลงทุน ดังนั้นการเติมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อเป็นส่วนสำคัญให้การบังคับใช้กฏหมายมีประสิทธิภาพ

“การเดินหน้าให้ความรู้ Class Action กับทนายความอาชีพเป็นไปตามเจตนารมย์ร่วม และเป็นเรื่องต่อเนื่อง จากการที่ทาง TIA ได้ทำ MOU กับ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมถ์เมื่อปีที่ผ่านมา” เลขาธิการสมาคมกล่าว

คุณสิริพร กล่าวอีกว่า การสัญจรและอบรมเรื่อง Class Action ครั้งนี้  ช่วงเช้าทนายความอาชีพที่เข้าอบรม หัวข้อ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคดีกลุ่ม” บรรยายโดย ท่านภุชพงศ์ จรัสทรงกิติ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์  และช่วงบ่าย หัวข้อ “การดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีหลักทรัพย์” บรรยายโดยท่านสรวิศ ลิปรังษี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลสำนักประธานศาลฏีกา  ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนตรงจากท่านผู้พิพากษาศาลสูง จบการบรรยายจะเป็นการสอบวัดผลประมวลความรู้ ประเมินกระบวนการวิชาชีพ พร้อมให้วุฒิบัตรกับผู้เข้าอบรม เพื่อจะเป็นการยืนยันว่าตลาดทุนไทยจะมีทนายความอาชีพที่มีความรู้ด้านคดีตลาดทุน 

คุณชลิต ขวัญแก้ว กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 2 (มีอำนาจบริหารภายในเขตอำนาจศาลจังหวัดชลบุรี พัทยา ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา) กล่าวว่า ต้องขอบคุณ TIA ที่จัดสัญจรให้ความรู้กับทนายความอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบ Class Action เพราะในยุคการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทนายความต้องมีการปรับตัว เพิ่มความรู้ใหม่ๆ เข้ามาและเป็นการเพิ่มโอกาสในอาชีพให้กับทนายความ อีกทั้งจะเป็นการเชื่อมร้อยกลุ่มคนเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อในการทำคดีในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะคดีด้านตลาดทุน และเป็นการเติมความรู้ที่ดีให้กับทนายเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในตลาดทุน

ท่านภุชพงศ์ จรัสทรงกิติ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวบรรยายว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ต้องยอมรับว่าเป็นกฎหมายใหม่ และในระบบศาลยุติธรรมยังไม่มีคำตัดสินที่เป็นที่สุด ของศาลฎีกา ดังนั้นในระบบศาลยุติธรรมเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยได้มีการจัดอบรมให้กับผู้ช่วยผู้พิพากษาและเจ้าพนักงานเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายนี้ เพื่อจะทำให้กฎหมายบังคับใช้ได้ดี

“สำคัญมากในการทำคดีแบบกลุ่มทนายโจทก์จะต้องเขียนคำร้องและคำฟ้องให้ชัดเจนครอบคลุม สามารถคุ้มครองสิทธิของสมาชิกกลุ่มได้อย่าเบิกความลอยๆ เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะถูกยกฟ้อง”

ท่านภุชพงศ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะครอบคลุมคดี ทั้งคดีการตกแต่งบัญชี, คดีเกี่ยวข้องกับคอนโดมิเนียม เช่น การก่อสร้างล่าช้า, คดีสิ่งแวดล้อม และเครื่องบินตก เป็นต้น นอกจากนี้ในการบรรยายได้หยิบยกตัวอย่างและการเขียนคำฟ้องและการบรรยายคำฟ้องให้ทนายที่เข้าร่วมอบรมได้นำไปเทียบเคียงในการเขียนคำร้องและคำฟ้องเพราะถือเป็นประเด็นสำคัญ

ท่านสรวิศ ลิปรังษี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า กฎหมาย Class Action ในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการที่สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ยื่นขอแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แบบเปิดโอกาสให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เกิดขึ้นในตลาดทุน แต่เมื่อเข้าสู่การพิจรณาของกฤษฎีกามีความเห็น ว่า Class Action สามารถนำมาใช้กับคดีประเภทอื่นๆได้นอกเหนือคดีหลักทรัพย์

“ประเทศไทย Class Action ยังไปได้ไม่ไกลนัก เพราะเป็นเรื่องใหม่แต่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐกฎหมายนี้เป็นที่นิยมมาก และในการทำคดีนั้นน้ำหนักของคดีและพยานหลักฐานเป็นเรื่องสำคัญมากต่อคดี”

ท่าน สรวิศ กล่าวว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต่างจากคดีสามัญเพราะเมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้วคนนอกวงที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มก็จะได้รับสิทธิเหมือนกัน ซึ่งในกรณีชนะก็จะไม่มีปัญหาสามารถรับชำระหนี้ในคดีได้ แต่ถ้าแพ้จะไม่สามารถฟ้องซ้ำได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดจะฟ้องซ้ำไม่ได้ รวมถึงกรณีการตกลงประนีประนอมระหว่างโจทก์และจำเลยจะส่งผลต่อสมาชิกและผู้เสียหายนอกวงเพราะผลของการของการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะผูกพันสมาชิกทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องต้องระวัง

นอกจากนี้กฎหมาย Class Action จะนำมาใช้กับกรณีการสร้างราคาหรือปั่นหุ้นได้ และให้ใช้สารตั้งต้นจากหน่วยงานกำกับที่ดำเนินคดีทางอาญาอยู่แล้วมาใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอดำเนินคดีแบบกลุ่มเพราะหากให้เริ่มต้นเองอาจเชื่อมโยงพฤติกรรมของการส่งคำสั่งหรือการสร้างราคาได้ลำบาก  และสำคัญทนายที่ทำคดี Class Action ถ้าเป็นผู้ลงทุนด้วยจะทำให้การทำคดีได้ดี

#TIA #ตลาดทุน #สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย #ข่าววันนี้