เด็กไทยเก่ง...นักเรียนผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้วที่ 20 (iGeo 2024) ได้รางวัลคะแนนรวมสูงสุดและคะแนนสูงสุดทั้งการสอบข้อเขียน การสอบภาคสนาม และ การสอบแบบมัลติมีเดีย เป็นครั้งแรก
สืบเนื่องจากมูลนิธิ สอวน. ร่วมกับ ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. 15 ศูนย์ และ ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นั้น มูลนิธิ สอวน. ได้ประกาศผลการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 20 (20th International Geography Olympiad 2024) ระหว่างวันที่ 19 – 24 สิงหาคม 2567 ณ เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ จำนวน 4 คน และผู้แทนฯ สำรอง จำนวน 2 คน ดังนี้
ผู้แทนประเทศไทย iGeo จำนวน 4 คน ได้เหรียญทอง คะแนนสูงสุด 4 อันดับ ได้แก่ อันดับที่ 1 นายณฐกร สวัสดิ์นพรัตน์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นอกจากได้รับรางวัลเหรียญทองแล้ว ยังได้รางวัลคะแนนรวมสูงสุด และคะแนนสูงสุดทั้ง WRT การสอบข้อเขียนภูมิศาสตร์มนุษย์ ภูมิศาสตร์กายภาพ , FWE การสอบภาคสนาม และ MMT การสอบแบบมัลติมีเดีย ซึ่งนับเป็นคนแรกของการจัดสอบแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติ ทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดและคะแนนสูงสุดของการสอบทั้ง WRT , FWE , MMT
อันดับ 2 นางสาวเกวลิน สาลิกา โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. โรงเรียนหาดใหญ่ อันดับ 3 นายศุภเกียรติ มนัสศิริวิทยา โรงเรียน Newton Sixth Form School ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 4 นายกฤศณัฏฐ์ เชาว์วรวิญญู โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
สำรอง 2 คนได้แก่ 1.นางสาวปาณิศรา ชำนาญศิลป์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 2.นายจิรัฏฐ์ เวียงอำพล โรงเรียนเบจมราชูทิศ ราชบุรี ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทั้งนี้ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เป็นประธานปิดการแข่งขัน ภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมทับทิมสยาม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมมอบรางวัลเหรียญทอง ให้แก่นักเรียนที่ทำคะแนนสูงสุด 10 อันดับ และกล่าวว่า “รู้สึกภาคภูมิใจที่เด็กไทยเรามีความเก่งด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาประยุกต์มาจากวิทยาศาสตร์ ขอชื่นชมนักเรียนและโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ทั้ง 15 ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. ซึ่งทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภูมิศาสตร์ของประเทศและนานาชาติ ทั้งในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ และเรื่องภูมิศาสตร์ ถ้าทุกคนรู้จักภูมิศาสตร์ของประเทศก็จะมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเป็นนานาชาติ สามารถที่จะเข้าใจและตอบสนองทันต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ ซึ่งภูมิศาสตร์ช่วยได้”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นท.หญิง ดร.งามลมัย ผิวเหลือง คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ กล่าวว่า คณะสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนงานต้นสังกัดของภาควิชาภูมิศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก เขตภาคกลางตอนบน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของ มูลนิธิ สอวน. เริ่มปฏิบัติงานมาตั้งแต่ปี 2560 และเริ่มจัดการสอบคัดเลือกและอบรมนักเรียนผู้แทนโรงเรียนในเขตภาคกลางตอนบน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก ระดับชาติ ในครั้งนี้ การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกวิชาการนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้พัฒนาความรู้ทางด้านทฤษฎีและแนวคิดทางภูมิศาสตร์ และเพิ่มพูนปัญญาและทักษะทางด้านการประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการทำความเข้าใจในปรากฏารณ์เชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นบนโลกและชั้นบรรยากาศอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก ของมูลนิธิ สอวน. จากการพัฒนาการเรียนการสอนของครูอาจารย์ผู้สอนที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมของนักเรียนผู้แทนศูนย์ทั้ง 15 ศูนย์อีกด้วย ตลอดจนทำให้เกิดพัฒนาการในสาขาวิชาภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ด้วยบทบาทในการสร้างฐานข้อมูลและองค์ความรู้จากความความเข้าใจในสภาวการณ์ปัจจุบันของโลกที่สภาพภูมิอากาศอยู่ในสภาวะวิกฤติ นอกจากนั้น ยังสามารถใช้วิทยาการด้านภูมิสารสนเทศของศาสตร์ ในการสร้างแบบจำลองทั้งในรูปแบบของแผนที่ แผนผัง สมการ ต่างๆ เพื่อคาดการณ์ความรุนแรงของปรากฏการณ์ต่างๆ ในอนาคต ได้อย่างแม่นยำ อันจะยังประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้างในโลกปัจจุบัน
การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้ง 6 นี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 350 คน ประกอบด้วย แขกพิเศษผู้เข้าร่วมพิธีเปิด จำนวน 146 คน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันโดยตรง จำนวน 204 คน ได้แก่ นักเรียนที่เป็นตัวแทนจากทุกศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกทั่วประเทศ จำนวน 15 ศูนย์ จำนวน 102 คน อาจารย์หัวหน้าทีมและรองหัวหน้าทีมของแต่ละศูนย์ จำนวน 33 คน คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการจัดการสอบและตัดสินผลการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติจำนวน 15 คน คณะกรรมการดำเนินงานจัดการแข่งขัน บุคลากรของคณะสังคมศาสตร์ และนิสิตช่วยงานจากภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 62 คน การดำเนินการจัดสอบแข่งขัน ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 วัน โดยเป็นการสอบข้อเขียนในช่วงบ่ายของวันที่ 29 เมษายน 2567 ในวันที่ 30 เมษายน เป็นการสำรวจภาคสนามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสอบภาคสนาม ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และท้ายที่สุด เป็นการสอบแบบมัลติมีเดีย ในช่วงเช้าของวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 โดยทั้งหมด เป็นการสอบในรูปแบบภาษาอังกฤษ การสอบทุกรูปแบบ ดำเนินการแล้วเสร็จด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ คณะสังคมศาสตร์ ในฐานะเจ้าภาพยังได้จัดกิจกรรมการทัศนศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงบ่ายของวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เป็นการทัศนศึกษาในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศศาสตร์กับการจัดการภัยพิบัติ ให้กับนักเรียน และคณะครูอาจารย์ผู้แทนศูนย์ฯ ที่สนใจอีกด้วย
สำหรับเจ้าภาพจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้ง 7 ปี พ.ศ.2568 ได้แก่ ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. โรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กำหนดจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2568