เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการขยายช่องระบายน้ำบริเวณทางรถไฟ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ พร้อมร่วมหารือประเด็นปัญหาและการพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ ณ พื้นที่ย่านสถานีกาญจนบุรี


นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการติดตามนโยบายที่มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีกาญจนบุรี เนื้อที่ 124 ไร่ ซึ่งแบ่งการพัฒนาเป็น 3 โซน ประกอบด้วย 1) พื้นที่ตลาดกลางค้าปลีก - ค้าส่ง 40 ไร่
2) โซน B พื้นที่อยู่อาศัยระยะยาว โครงการบ้านเพื่อคนไทย 41 ไร่ และ 3 ) โซน C พื้นที่สวนสาธารณะและแก้มลิง 43 ไร่ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายช่องระบายน้ำทางรถไฟ จำนวน 2 จุด ให้สอดรับกับโครงการระบบระบายน้ำบ้านหัวนาล่างของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแก้มลิง

ปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณ 32,640 ลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำเพิ่มได้อีก 22,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ หากการรถไฟฯ ขุดลอกลึกเพิ่มอีก 1 เมตร จะสามารถรองรับน้ำเพิ่มขึ้นได้อีก 27,200 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 49,200 ลูกบาศก์เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้จัดสรรงบประมาณ ปี 2567 สำหรับดำเนินการคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกรกฎาคม 2567 ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน


 
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงเรื่องการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ดี มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของจังหวัด พื้นที่ใกล้เคียงและเชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป