สถานการณ์และบรรยากาศของบรรดานักการเมืองในเยอรมนี เจ้าของฉายาประเทศว่า แดนอินทรีเหล็ก ณ ชั่วโมงนี้ ต้องบอกว่า เต็มไปด้วยความหวาดกลัว
ภายหลังจากในช่วงระยะห่างไม่ถึงสัปดาห์ ปรากฏว่า ได้เกิดเหตุทำร้ายร่างกายนักการเมืองไปแล้วถึง 3 คนด้วยกัน
เริ่มจาก “นายมัทธีอัส เอ็คเค” นักการเมืองชาวเยอรมนี วัย 41 ปี แห่งพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี หรือเอสพีดี ที่ปดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภายุโรปแห่งสหภาพยุโรป หรืออียู ถูกกลุ่มวัยรุ่นอย่างน้อย 4 คน รุมทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล เพราะได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะปิดแผ่นป้ายโปสเตอร์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปของอียู ซึ่งจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในระหว่างวันที่ 6 – 9 มิถุนายนเดือนหน้านี้
โดยนายเอ็คเค ถูกรุมทำร้ายที่เมืองเดรสเดน ก่อนที่ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ทั้ง 4 คน อายุระหว่าง 17 - 18 ปี ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ในกระบวนการสืบสวน สอบสวน
ทั้งนี้ จากการสืบสวน สอบสวน พบว่า 1 ใน 4 ของกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุรุมทำร้ายร่างกายนายเอ็คเคนั้น มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มขวาจัด หรือพวกชาตินิยมสุดโต่ง อันเป็นกลุ่มนีโอนาซี หรือนาซีใหม่ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในเยอรมนี ซึ่งกลุ่มนีโอนาซีที่ว่านี้ นอกจากในเยอรมนีแล้ว ก็ยังพบว่า มีการเคลื่อนไหวในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคยุโรป หรือแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา ก็มีกลุ่มขวาจัด หรือขวาตกขอบในลักษณะนี้เคลื่อนไหวให้ประชาชนได้สะพรึงกันอีกต่างหากด้วย
ถัดจากนั้นไม่กี่วันต่อมา ได้เกิดเหตุชายคนร้ายใช้ถุงหรือกระเป๋าที่ภายในบรรจุด้วยของหนัก ของแข็ง ตีเข้าที่ศีรษะและท้ายทอยของ “นางฟรานซิสกา กิฟเฟย์” นักการเมืองหญิงแห่งพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี หรือเอสพีดี วัย 46 ปี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองของเยอรมนี เช่น ดูแลด้านการคลัง มาตั้งแต่สมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล โดยปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีแห่งกรุงเบอร์ลิน
โดยนางกิฟเฟย์ เล่าว่า เธอถูกทำร้ายในห้องสมุดอัลท์-รูโดว์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเบอร์ลิน ขณะที่เธอกำลังยืนสนทนากับผู้จัดการของห้องสมุดฯ
ผลการถูกทำร้าย ปรากฏว่า นางกิฟเฟย์ได้รับบาดเจ็บไม่มาก แต่ก็ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เนื่องจากาะมีอาการปวดศีรษะและคอ
ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจเยอรมนี จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ เป็นชายอายุ 74 ปี โดยขณะอยู่ในระหว่างการสอบสวน รวมถึงการตรวจสอบสุขภาพจิตด้วย
เบื้องต้นชายรายนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาเป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐ จากการที่เขาทำร้ายนักการเมืองที่มีตำแหน่งในการบริหารรัฐ และข้อหาก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง
นอกจากนายเอ็คเค และนางกิฟเฟย์ ที่ถูกทำร้ายร่างกายแล้ว ก็ยังมีนักการเมืองคนอื่นที่ถูกทำร้ายร่างกายในลักษณะดังกล่าว ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน นั่นคือ นางอีวอนน์ โมสเลอร์ เป็นนักการเมืองจากพรรคกรีน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดและนโยบายสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปรากฏว่า ในวันเดียวกันกับที่นางกิฟเฟย์ ถูกชายสูงอายุทำร้ายร่างกายที่กรุงเบอร์ลิน นางโมสเลอร์ ก็ถูกกลุ่มที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง หรือขวาจัด เป็นชาย 2 คน ทำร้ายร่างกาย ด้วยการถูกผลัก และถูกถ่มน้ำลาย ขณะที่เธอกำลังปิดโปสเตอร์แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งที่เมืองเดรสเดน ก่อนที่สองคนร้ายจะหลบหนีไป ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังไล่ล่าติดตามตัว
ภายหลังเกิดเหตุ บรรดาผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลเยอรมนีและของสหภาพยุโรป หรืออียู ต่างพากันออกมาประณาม อาทิ นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ออกมาประณามอย่างรุนแรง
เช่นเดียวกับ นางอูร์ซุลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็ได้ออกมาประณามอย่างรุนแรงเช่นกัน พร้อมทั้งยังระบุด้วยว่า พวกเราจะต้องช่วยกันปกป้องจากการถูกคุกคามทำร้าย รวมถึงการปกป้องสังคมประชาธิปไตยของพวกเราไม่ให้ถูกทำร้าย
ทางด้านนายไค เวกเนอร์ นายกเทศมนตรีกรุงเบอร์ลิน ได้ออกมาประณามต่อคนร้ายที่ลงมือก่อเหตุ และยังระบุด้วยว่า พวกเราจะไม่ทนอีกต่อไป และจะต่อต้านสำหรับความรุนแรง อันเกิดขึ้นจากความเกลียดชัง ซึ่งสร้างความปั่นป่วน และเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย โดยพวกเราจะปกป้องต่อระบอบประชาธิปไตยนี้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า นอกจากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแล้ว ปรากฏว่า ทางซีกฟากของนักการเมืองฝ่ายค้านของเยอรมนี ก็ได้ร่วมแสดงพลังถึงการต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่างๆ รวมถึง การคุกคามทำร้ายร่างกายต่อนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุกคามจากกลุ่มขวาจัด หรือพวกนาซีใหม่ ที่กำลังอาละวาดในเยอรมนีอย่างหนัก ณ ชั่วโมงนี้
ขณะเดียวกัน ทางรัฐสภาเยอรมนี ก็เคยมีรายงานออกมาด้วยห่วงใยในสวัสดิภาพของนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้อง จากการถูกคุกคาม หรือถึงขั้นทำร้ายร่างกาย และความรุนแรงต่างๆ ด้วยว่า
ในช่วงปีที่ผ่านมา คือ 2023 (พ.ศ. 2566) ถือว่า นักการเมืองและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ลูกทีม และคณะทำงานต่างๆ ของนักการเมืองถูกคุกคามจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 2,790 ครั้ง สำหรับ นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งแล้ว ถูกคุกคาม
แยกย่อยลงไปในรายละเอียดแต่ละพรรค ก็ปรากฏว่า นักการเมืองของพรรคกรีน ถูกคุกคามมากที่สุด ถึงจำนวน 1,219 ครั้ง
รองลงมาได้แก่ นักการเมืองพรรคทางเลือกสำหรับเยอรมนี หรือเอเอฟดี ถูกคุกคามจำนวน 478 ครั้ง
ส่วนพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี หรือเอสพีดี นักการเมืองถูกคุกคาม 420 ครั้ง
โดยรัฐสภาเยอรมนี เรียกร้องให้เร่งหามาตรการโดยด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาภัยคุกคามจากกลุ่มพวกที่มีแนวคิดสุดโต่งในลักษณะนี้ ที่นับว่ามีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น