เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางไปบรรยายในหัวข้อ "แนวทางการพัฒนาบัณฑิตเพื่อเป็นนักกฎหมายในศตวรรษที่ 21" แก่บัณฑิตที่จบหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในโครงการพัฒนาศักยภาพนิสิตพัฒนาทักษะนักกฎหมายในศตวรรษที่ 21 ที่ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ เวลา 18.30 น.
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า น้องๆที่จบ นิติศาสตร์ มศว เรื่องทางกฎหมายนั้นมีความสำคัญ การทำหน้าที่เป็นนักกฎหมาย เพราะจะต้องตีความกฎหมาย ที่มีผลกระทบต่อความสงบ ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่า ลำพังการเรียนกฎหมาย หรืออย่างที่เขากล่าวกันไว้ว่า "เรียนกฎหมายรู้ อ่านกฎหมายออก และเข้าใจกฎหมาย" อาจไม่เพียงพอ ซึ่งจะมีอยู่อีกหนึ่งคำนั่นคือ "หลักนิติธรรม ที่จะต้องรู้อย่างลึกซึ้งด้วย”
รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า รัฐบาล รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักนิติธรรม คำในส่วนท้ายนี้มีความสำคัญ ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน เพื่อความผาสุขและประโยชน์ของประเทศชาติ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เชื่อว่าน้อง ๆ ในที่นี้ บางคนอาจเป็นประธานศาลฎีกา เป็นปลัดกระทรวง ในหลายๆ กระทรวง บางคนอาจเป็นเลขากฤษฎีกาฯ หรือบางคนที่สนใจงานการเมืองอาจเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มากไปกว่านั้น ในอีกหลาย ๆ หน้าที่ สิ่งสำคัญ การเป็นนักนิติศาสตร์ - นักกฎหมาย การเรียนวิชากฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับในทศวรรษนี้ เพราะอาจต้องหาความรู้อื่นๆ มาเสริม เพราะตลอดชีวิตของตนก่อนจะก้าวมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การเป็นตำรวจ. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI), รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการศอ.บต. ที่ทำหน้าที่สร้างความสงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะลาออกและก้าวมาสู่งานทางการเมืองในปัจจุบัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทุกอาชีพ หรือแม้กระทั่งแพทย์ก็ต้องรู้กฎหมาย เพราะเวลามีปัญหา การโต้เถียง หรือจะกระทำการใดๆ เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงในประเด็นการเกิดของกฎหมาย ที่ประเทศไทยมีกว่า 900 ฉบับ ทั้งพระราชบัญญัติ, พระราชกำหนด, กฎหมาย กฎกระทรวงต่างๆ ถือว่าเป็นชาติที่ฟุ่มเฟือยทางกฎหมาย แต่มีเพียงเป้าประสงค์เดียว คือ ประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งเป็นรากเหง้าของการเกิดทางกฎหมายก็เพื่อความยุติธรรม ไม่ใช่เขียนมาเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกฎหมายที่ดีปรัชญาของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ สส. มักใช้กัน คือ การบัญญัติเพื่อ "กันไม่ดีกว่าแก้" เช่น กฎหมายที่มีการนำกัญชาเข้าสู่บัญชียาเสพติด มีการควบคุมการใช้ประโยชน์ เพียง 2 เรื่อง คือ เพื่อการแพทย์และการวิจัย ก็เพื่อการปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นต้น
ทั้งนี้ ความสำคัญของกฎหมายจะเกิดขึ้นได้ 4 ประการ ประกอบด้วย 1.การบัญญัติกฎหมายจะต้องใช้คนที่มีความรู้ มีความปราดเปรื่อง ไม่ใช่นักกฎหมายไม่ใช่คนที่มีความหวังดี ซึ่งจะเห็นว่าในสภาฯ มักมีการถกเถียงก็เพื่อก่อให้เกิดการตกผลึกเพราะกฎหมายที่ออกมาจะไปบังคับใช้กับทุกคน ไม่ใช่เพียงตัวผู้ออกกฎหมายเท่านั้น แต่ พ่อแม่ พี่น้อง ครอบครัว ก็ยังบังคับใช้กฎหมายกับพวกเขา รวมถึงคนรอบข้างด้วย
2.แม้กฎหมายจะมีความยุติธรรม แต่หากผู้พิทักษ์กฎหมาย ผู้พิพากษา ไม่มีจิตใจที่จะผดุงความยุติธรรมแล้ว กฎหมายที่เขียนไว้ดีเพียงใด ก็จะไม่เกิดประโยชน์
3.สังคมต้องสนับสนุนรักษาคุณค่าความดี เพื่อให้ผู้ใช้กฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมาย สามารถธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
4.เราต้องป้องกันการถูกกล่าวหากันตามอำเภอใจ ซึ่งมีหลักวิชาการอยู่ว่า ผู้พิพากษา ตุลาการจะต้องไม่ตีความกฎหมาย แต่ต้องประยุกต์การบังคับใช้กฎหมายไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งการตีความเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเขียนกฎหมายจึงต้องมีข้อความที่ไม่คลุมเครือ ไม่แอบแฝง ไม่เปิดโอกาสให้มีความเห็นไปในคนละทิศทาง ดังนั้น เมื่อมีปัญหาในความเห็นทางกฎหมาย จึงควรส่งให้ผู้บัญญัติกฎหมายเพราะจะเป็นผู้ที่รู้เจตนารมณ์ของกฎหมายที่แท้จริง ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้การบังคับใช้กฎหมายสามารถธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า อยากฝากน้องๆ ที่จะเป็นนักกฎหมาย นักนิติศาสตร์ หากเราจะใช้กฎหมาย ควรคำนึงถึงหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเห็นว่า ในประเทศที่มีความเป็นรัฐสวัสดิการ จะมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเป็นหลักนิติธรรมที่สูง เพราะในประเทศนั้นๆ จะเห็นประชาชนทุกคนควรมีสิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน อย่างประเทศไทย ในประเด็นการศึกษา ซึ่งเป็นที่มของกรมราชทัณฑ์ ที่ต้องจัดการศึกษาแก่ 75% ของผู้ต้องราชทัณฑ์ หรือกว่า 200,000 คน ที่มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกคน "เราต้องใช้กฎหมายโดยดูที่เจตนาและเป้าหมาย ไม่ใช่อ่านไปตามลายลักษณ์อักษร"
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในตอนท้าย ว่า กระทรวงยุติธรรม มีหลายหน่วยงาน ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI), กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ที่มีกฎหมายสำคัญ 5 ฉบับ กรมบังคับคดี, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือ กรมคุมประพฤติ ที่ยินดีเปิดพื้นที่ให้กับน้องๆ นิติศาสตร์ มศว ที่สนใจอยากเป็นผู้พิพากษา เพราะหลายตำแหน่งในกระทรวงยุติธรรม ต้องการผู้ที่จบนิติศาสตร์ และขอยินดีต้อนรับน้องๆ ทุกๆ คนครับ
#ทวีสอดส่อง #รัฐบาลเศรษฐา #ครมเศรษฐา2