นครพนม แล้งจัด ชาวบ้านหนองดู่ ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ สืบสานบุญบั้งไฟจิ๋ว ขอฝนตกต้องตามฤดูกาล ตามประเพณีความเชื่อ ม่วนซื่น กองเชียร์ลุ้นบั้งไฟขอฝน งานหนักสุดกรรมการเซียน ตัดสินบั้งไฟ โกยค่าแรงวันละหมื่น เผยช่วงนี้ คิวงานยาวไม่เว้นวัน

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดนครพนม ช่วงนี้มีงานบุญประเพณีสำคัญ ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นการขอฟ้าขอฝนให้ตกถูกต้องตามฤดูกาล หลังประสบปัญหา ภัยแล้ง คืองานบุญบั้งไฟบูชาพญาแถน ถือเป็นการสืบทอดประเพณี ความเชื่อ อันดีงามของท้องถิ่นมายาวนาน รวมถึงเป็นการสร้างสีสัน ม่วนสัน สร้างความสามัคคีในชุมชน

เช่นเดียวกันกับชาวบ้านหนองดู่ ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ได้ร่วมกันจัดงานสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ บูชาพญาแถน ขอฟ้าขอฝน ตามประเพณีความเชื่อ สืบทอดกันมาหลาย 10 ปี ที่น่าสนใจ แปลกไปจากที่อื่น เนื่องจากเป็นบั้งไฟจิ๋ว ผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้วัสดุจากท่อพีวีซีขนาดประมาณ 2 นิ้ว ความยาวประมาณ 1 เมตร อัดด้วยดินปืน ติดหางไม้ไผ่ยาว 4-5 เมตร ตามภูมิปัญญาชาวบ้านเซียนบั้งไฟ แต่ละชาวคุ้ม ก่อนที่จะนำมาจุดถวายบูชาพญาแถน และมีการแข่งขันระดับความสูง เพื่อเป็นการสร้างสีสันความสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก ปีนี้จัดแข่งขันบั้งไฟจิ๋วมากกว่า 50 ลำ

ขณะเดียวกัน มี ส.ส.เดือน มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ส.ส.เขต 2 นครพนม พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายอนุชิต หงษาดี นายก อบต. โพนสวรรค์ แกนนำครอบครัวเพื่อไทย รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมมอบเงินสนับสนุนการจัดงานสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ อีกด้วย

สำหรับสีสันไฮไลท์ของงานบุญประเพณีบั้งไฟจิ๋ว นอกจากความม่วนซื่น ของกองเชียร์ ที่ลุ้นความ สูงของบั้งไฟ อย่างสนุกสนาน คนที่ทำงานหนักสุดคือ กรรมการเซียนบั้งไฟ ต้องมีความชำนาญ เป็นพิเศษ ในการตรวจสอบจับเวลา ตั้งแต่บั้งไฟทะยานขึ้นฟ้า จนลงถึงพื้นดิน เพื่อเป็นการแข่งขัน ว่าบั้งไฟของชุมชนไหน จะใช้เวลามากที่สุดถือว่าเป็นผู้ชนะ

สอบถามหัวหน้าทีมกรรมการตัดสิน คือ เซียนยาว เจ้าของทีมงานเรดาร์ ชาว อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร กรรมตัดสินบั้งไฟเดินสาย เปิดเผยว่า มีทีมงานประมาณสามถึงสี่คน ทำหน้าที่ตัดสิน ระยะเวลาและความสูงของบั้งไฟแต่ละสนาม มีอุปกรณ์สำคัญคือกล้องส่องทางไกล นาฬิกาจับเวลา ทำหน้าที่เป็นเรดาร์ ส่องบั้งไฟ ที่ทะยานขึ้นฟ้าจนถึงตกพื้นดิน พร้อมมีการพากย์ บรรยายไปด้วยเพื่อความสนุกสนาน สำหรับกติกา จะวัดกันที่เวลาขึ้นของบั้งไฟจนถึงตกพื้นดิน ใครมีเวลามากสุดถือว่าชนะเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้บั้งไฟขนาด 2 นิ้วจะมีสถิติเวลาสูงสุดประมาณ 300-400 วินาที ใครใช้เวลานานสุดชนะ ถามถึงค่าตัวกรรมการ ตกประมาณวันละ 10,000 บาท บางคนคิดว่าแพง แต่สำหรับตนถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะต้องตัดสิน ด้วยความชำนาญเฉพาะด้าน เฝ้าตัดสินทั้งวัน และในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเทศกาลสำคัญมีงานรับคิวยาวไม่เว้นวัน เพราะกรรมการตัดสินหายาก และ เป็นความสามารถเฉพาะด้าน