วันที่ 10 พฤษภาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ มีกำหนดการเยือน กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อนำคณะนักธุรกิจไทยร่วมงาน Thailand - France Business Forum & Roundtable ระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤษภาคม 2567 การเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ระหว่างวันที่ 17 - 21 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองมิลาน และกรุงโรม และการเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 22 - 24 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า การเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทย - ฝรั่งเศส ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วง 3 เดือน ภายหลังการเดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 7 - 12 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการพบหารือทวิภาคีกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ เพื่อติดตามผลการเยือนฯ โดยเฉพาะในด้านการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และ Soft Power พร้อมทั้งนำคณะนักธุรกิจไทยร่วมงาน Thailand - France Business Forum & Roundtable ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ ในห้วงการเยือนฯ
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งพบหารือทวิภาคีกับนางจอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระชับความร่วมมือในสาขาที่ไทยและอิตาลี ศักยภาพ อาทิ 1) ด้านพลังงานหมุนเวียน 2) การท่องเที่ยวเชิงกีฬา 3) วิทยาศาสตร์การแพทย์และเภสัชกรรม 4) ด้านกลาโหม รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียน GI ในยุโรป การส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้านอวกาศ และความยั่งยืนทางอาหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะมีกำหนดการพบหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ระดับโลกของอิตาลีและจะเชิญชวนให้ภาคเอกชนอิตาลีลงทุนในไทย โดยเฉพาะ ด้านแฟชั่น และ soft power ด้านการเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ และพลังงาน ซึ่งรวมทั้งจะได้พบหารือกับ ประธาน the National Chamber of Italian Fashion องค์กรที่มีความสำคัญด้านแฟชั่นของอิตาลีอีกด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจในยุโรป นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาในการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนญี่ปุ่น และดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งในการประชุมนี้ ภาคธุรกิจญี่ปุ่นจะสนใจติดตามฟังปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีไทยเสมอ เนื่องจากไทยเป็นแหล่งลงทุนที่ใหญ่ และสำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในอาเซียน ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้คือ “Asian Leadership in an Uncertain World” โดยนายกรัฐมนตรีจะเน้นย้ำถึงความยืดหยุ่นในการเมืองและเศรษฐกิจของไทย และโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้าง