หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) 38 แห่งและเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่งทั่วประเทศ จัดแสดงผลงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ กว่า 2,289 ผลงาน จากภูมิปัญญานักวิจัยไทย ที่จะเป็นรากฐานสำคัญของการพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยี และขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวข้ามกับดักความยากจน ไปสู่ความมั่นคง-มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดนำเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 2,289 ผลงาน ไปช่วยชุมชนโดยให้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับเครือข่ายมรภ.และมทร. ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนงานดังกล่าว ซึ่งในระยะถัดไปจะเปิดตัว Technology and Innovation Library ซึ่งจะเป็นระบบรวบรวมข้อมูลฝั่งชุมชนกับข้อมูลเทคโนโลยีพร้อมใช้รวมทั้งข้อมูลนวัตกรชุมชนให้เกิดการขยายผลไปทั่วประเทศ 

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 9-24 พฤษภาคมนี้ บพท.จะร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) 38 แห่งและเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่งทั่วประเทศ จัดแสดงผลงานการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพร้อมใช้ ใน 4 ภูมิภาค ภายใต้ชื่องาน “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน” หรือ “Appropriate Technology Matching Day 2024” ครอบคลุมทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง เพื่อให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนได้รับชมและนำไปต่อยอดขยายผลการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

“งานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน จะเริ่มต้นครั้งแรกที่ภาคใต้ ในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 15 พฤษภาคม ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียลโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 3 ที่ภาคเหนือ วันที่ 21 พฤษภาคม ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งที่ 4 ที่ภาคกลาง วันที่ 24 พฤษภาคม ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพมหานคร”

 ผู้อำนวยการ บพท.กล่าวว่า งานแสดงเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย จากภูมิปัญญาการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาของนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ที่เหมาะสมเป็นเครื่องมือ และมีกลไกกระบวนการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่เป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อนำสู่เป้าหมายการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ