กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ขณะนี้ ในประเทศไทย พบสายพันธุ์ KP ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน JN.1* จำนวน 13 ราย ยังไม่มีหลักฐานความรุนแรง ย้ำ JN.1* ยังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์สายพันธุ์โควิด 19 ว่า สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ยังคงพบ JN.1 และลูกหลาน เป็นสายพันธุ์หลัก ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยของ JN.1 หลายชนิด โดยแตกต่างกันที่ตำแหน่งกลายพันธุ์บนส่วนโปรตีนหนามของไวรัส เช่น R346T, F456L, R346T+F456L (FLiRT) รวมถึง F456L+Q493E เป็นต้น ซึ่งช่วยให้ไวรัสมีความสามารถในการก่อโรค การหลบภูมิคุ้มกัน ตลอดจนการแพร่กระจายเชื้อแตกต่างกันไป สำหรับสายพันธุ์ JN.1 (BA.2.86.1.1*) เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.86* มีการเติบโตและแพร่กระจายได้เร็ว จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกกว่า 116 ประเทศ

นอกจากนี้ พบสายพันธุ์ย่อยใหม่ของ JN.1* โดยคาดการณ์ว่ามีความได้เปรียบในการเติบโตมากกว่าสองเท่าหรือมากกว่า ได้แก่ KP.2, KP.3, KS.1, KP.1.1 ซึ่งประเทศไทยพบ KP.2 และลูกหลานแล้ว จำนวน 9 ราย ในเขตสุขภาพที่ 8, 10 และ 13 ส่วน KP.3 พบจำนวน 4 ราย ในเขตสุขภาพที่ 4 และ 13 จากจำนวน JN.1 และลูกหลาน ที่พบทั้งหมด 503 ราย คิดเป็นสัดส่วน KP.2 และลูกหลาน 1.79% และ KP.3 0.79% นอกจากนี้ พบสายพันธุ์โอมิครอนลูกผสมระหว่าง JN.1 กับสายพันธุ์อื่นจำนวน 2 ราย ได้แก่ XDK 1 ราย และ XDR 1 ราย ในเขตสุขภาพที่ 1 และ 11 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความรุนแรง หรือการเพิ่มความสามารถในการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ลูกผสมนี้