ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : แต่ละชุมชนมีเสน่ห์วิถี อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ทางประเพณีและวัฒนธรรม ในที่นี้พาไปยลวิถีชุมชนวัดท่าขนุน ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
ข้อมูลสังเขป ชุมชนวัดท่าขนุนเคยเป็นที่ตั้งของค่ายทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายทั้งไทย กะเหรี่ยง มอญ ม้ง พม่า เย้า ลีซอ มีภาษา การแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ นักท่องเที่ยวที่มาชุมชนจะได้ร่วมงานประเพณีทั้งตักบาตรเทโว กิจกรรมเสาร์ใส่บาตร ตลาดริมแคว ยลวิถีเมืองท่าขนุน กิจกรรมนุ่งผ้าซิ่น นั่งแคร่ไม้ใส่บาตรพระทุกวันอาทิตย์ การวางผางประทีปถวายเป็นพุทธบูชาในวันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา และวันลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ อุ้มพระสรงน้ำ และไปเที่ยวเส้นทางรถไฟสายมรณะที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านหลบภัยเชลยศึก ยอดเขารอยพระพุทธบาท และยอดเขาพระพุทธเจติยคีรี เป็นจุดชมวิวของอำเภอทองผาภูมิ และเป็นจุดชมวิวทะเลหมอก แบบ 360 องศา ชมทิวทัศน์และแม่น้ำแควน้อยบนสะพานแขวนหลวงปู่สาย และเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ที่ตลาดริมแคว
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปสักการะพระประธาน มณฑปหลวงพ่อมหาลาภสามกษัตริย์ (หลวงพ่อทองคำ หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อนาก) และสรีระสังขารหลวงปู่สาย ณ ศาลาร้อยปีหลวงปู่สาย วัดท่าขนุน ชมเส้นทางรถไฟจำลอง สร้างสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สักการะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หน้าตัก 21 ศอก และไปชมท่าเรือเก่าบ้านท่าขนุน แวะซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น อาทิ ผ้าสวัสดิรักษาที่ชุมชนคิดค้นแบบลายผ้าขึ้นใหม่โดยผสมผสานระหว่างไทย ไทยอีสาน กะเหรี่ยงและมอญ เส้นด้ายที่ทอใช้ด้ายสีมงคลประจำวัน 5 สี ปากกาจักสานไม้ไผ่ที่นำลายผ้ามอญมาจักสานเป็นลายปากกา รวมทั้งชิมและซื้ออาหารท้องถิ่น เช่น แกงฮังเลมอญ ขนมทองโย๊ะ ของหวานขึ้นชื่อของอำเภอทองผาภูมิ
ชุมชนวัดท่าขนุน ยังได้เดินแนวชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร เครือข่ายและชาวบ้านที่เข้มแข็ง มีการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น มีศักยภาพความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติของจังหวัด ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2566 ของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ซึ่งได้มีการเปิดสุดยอดชุมชนฯ ไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วธ.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” นำอัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนมานำเสนอให้คนไทยและชาวต่างชาติได้ชมและเรียนรู้ โดยคัดเลือกชุมชนคุณธรรมฯ ในทุกมิติของจังหวัดเพื่อรับรางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2564 – 2566 และปี 2567 จะคัดเลือกอีก 10 ชุมชน โดยนำทุนวัฒนธรรมของชุมชนมาพัฒนา ต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยววิถีชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
“จากการเก็บข้อมูลของวธ. พบว่าสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ที่ได้รับคัดเลือกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 จำนวน 20 แห่ง มีรายได้จากการท่องเที่ยววัฒนธรรมรวมกว่า 1,200 ล้านบาท” ปลัดก.วัฒนธรรม กล่าว / เครดิตภาพ ก.วัฒนธรรม